ค้นหาบทความ

1

 

     สมัชชาคุณธรรม เป็นภารกิจหนึ่งของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ตามกฏหมาย ที่เป็นรูปแบบของการสร้างพื้นที่กลางของเครือข่ายทางสังคม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือ และพัฒนาข้อเสนอต่อสังคมและนโยบาย ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมไทย ให้เป็นสังคมที่มีคุณธรรม และมีธรรมาภิบาล สมัชชาคุณธรรม จึงเป็นกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ทางสังคม ที่ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม และเป็นหุ้นส่วนโดยความสมัครใจ โดยไม่มีการบังคับใดๆ

 

     ที่ผ่านมา สมัชชาคุณธรรม เป็นเวทีกลางที่จัดขึ้น ในสามระดับ คือ สมัชชาคุณธรรมระดับจังหวัด สมัชชาคุณธรรมระดับภาค และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ได้มีการจัดมาแล้ว ถึง 9 ครั้ง และเป็นการจัดงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศที่สำคัญ และสอดคล้องกับประเด็นด้านคุณธรรม จนกลายเป็นสมัชชาระดับชาติ อีกหนึ่งสมัชชา ที่มีเครือข่ายทางสังคมเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นๆ ในทุกๆปี โดยที่ปัจจุบัน ยังไม่มีระบบสมาชิกสมัชชา เช่นกับสมัชชาอื่นๆ

 

     นับตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบัน ได้เห็นชอบแผนแม่บทส่งเสริมคุณะรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559 -2564 ทำให้เกิดกระแสการพัฒนาด้านคุณธรรมขยายตัวมากขึ้น เพราะตอบสนองต่อสภาพปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน รวมถึงการเกิดกลไกปฏิบัติขับเคลื่อนในระดับต่างๆ ทั้งระดับกระทรวงและจังหวัด ซึ่งการมีแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรม ในแต่ละระดับ จำเป็นต้องมีพื้นที่กลาง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับการพัฒนาต่อเนื่อง หนึ่งในความต้องการนั้น คือ สมัชชาคุณธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบที่จะถูกนำไปใช้ในหลายๆ กลุ่ม เพราะเป็นสมัชชาที่มีพลัง และเป็นสมัชชาที่ภาคนโยบายให้ความสำคัญ เข้าร่วมและรับข้อเสนอนโยบายไปสู่การปฏิบัติมาต่อเนื่อง อาทิ การลาไปทำจิตอาสาของเจ้าหน้าที่รัฐ การพัฒนาแผนแม่บทความซื่อตรงแห่งชาติ การขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ กรอบแนวทางแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพคน เป็นต้น

 

     ที่ผ่านมานอกจากสมัชชาคุณธรรม จะมีความสำเร็จที่เป็นจำนวนองค์กรที่เข้าร่วมกระบวนการเพิ่มมากขึ้นทุกปี มีคนเข้าร่วมและได้รับประโยชน์จากกระบวนการสมัชชาคุณธรรมเพิ่มมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นที่สำคัญ จนทำให้สมัชชาคุณธรรมโดดเด่นขึ้นมาได้ ในปัจจุบัน คือ

 

  1. ใครๆ ก็เข้าถึงได้ เพราะรวมคนเข้า ไม่กันออก ไม่ติดในประเด็นงานที่ทำ เพราะมีความเชื่อว่า ทุกประเด็นงานมีมิติด้านความดี เป็นฐานอยู่แล้ว ดังนั้น ทุกกลุ่ม ทุกประเด็นงาน จึงสามารถเข้าร่วมกระบวนการสมัชชาคุณธรรมได้ โดยภาคภูมิและไม่ถูกปิดกั้น 
  2. มีตลาดนัดความดี เป็นพื้นที่แสดงพฤติกรรมสะท้อนคุณธรรม ผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยไม่บังคับ เรียกร้อง ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ จิตอาสาเก็บขยะ บริการนวด แนะนำเส้นทาง การระดมทุน เปิดร้านทานฟรี โรงทาน คลีนิคคุณธรรม ดนตรีเพื่อสร้างพลังบวก ล้างจานล้างใจ ฯลฯ ซึ่งใครๆก็ทำได้ ไม่ต้องเดี๋ยว
  3. ไม่มีกลไกสมัชชาเชิงโครงสร้างอำนาจ และแข็งตัว ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร เพราะมีพื้นฐานการมาแชร์ เชื่อม สร้างความดีด้วยกัน ไม่มีการบังคับ สั่งการ ต้องเข้าร่วมโดยสมัครใจ
  4. ยึดประโยชน์ 4 อย่าง หรือ 4 ย. คือ ย้ำ.. ความสำคัญของความดี   ยก..ย่องความดี ทุกรูปแบบ โยง.. ใยเป็นพลังเครือข่ายเรียนรู้ปฏิบัติ และขยาย ..ความรู้ สู่สังคมเป็นการให้และแบ่งปัน " ย้ำ ยก โยง ขยาย" คือ ประโยชน์สุขร่วมกันของภาคีสมัชชาคุณธรรม
  5. มติสมัชชา ไม่เน้นเสนอให้คนอื่นทำ แต่เน้นที่องค์กรเครือข่ายจะต้องทำ แม้คนอื่น จะไม่ทำก็ไม่เป็นทุกข์ ที่ต้องคาดหวังจากคนอื่น
  6. สมัชชาคุณธรรม เป็นตัวแบบการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นคำตอบว่า จะสร้างคนดี ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีร่วมกัน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน องค์กร หน่วยงาน ต่างต้องเป็นแบบที่ดีด้วยกัน และมีเป้าหมายที่จะสร้างคนดีร่วมกันเป็นสำคัญ ซึ่งสมัชชาคุณธรรม สามารถจัดทำได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และชาติ
  7. สมัชชาคุณธรรม ทำแล้วเป็นภาพลักษณ์ที่ดีงาม ตำบล อำเภอ จังหวัดใด สามารถดำเนินการได้ ก็จะเป็นพลังทางบวก และส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร ในทางสาธารณะ

     นี่คือ อัตลักษณ์สมัชชาคุณธรรม ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้

 

2

ค้นหาหนังสือ