เวลาประมาณ 03.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ประชาชนละแวกซอยกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงประชาชนบริเวณใกล้เคียง ต้องตกใจกับเสียงที่ดังสนั่นขึ้น พร้อมกับแรงอัดอย่างรุนแรงจากการระเบิด ที่ทำให้กระจกประตูและหน้าต่างเกิดความเสียหายในทันที ซึ่งในขณะนั้นประชาชนที่ได้ยินเสียงยังไม่ทราบในทันทีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มกู้ภัยป่อเต็กตึ๊งจุด สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-สภ.บางแก้ว ได้รายงานข่าวการระเบิดว่าเกิดขึ้นที่โรงงาน บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 ซึ่งโรงงานเป็นคลังเก็บเม็ดพลาสติกเเละสารเคมี เเรงระเบิดทำให้โรงงาน บ้านเรือน โรงเเรม อะพาร์ตเมนท์ ในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ได้รับความเสียหายนับร้อยหลังคาเรือน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคนจากวัสดุที่พังลงมาจากแรงสั่นสะเทือน ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ดึงความสนใจของประชาชนไปจากเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ได้ จนขึ้นเทรนทวิตเตอร์อันดับ 1 #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ซึ่งเวลาต่อมา นายอำเภอบางพลี ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร อพยพออกจากพื้นที่เนื่องจากกลัวว่าเพลิงจะลุกลาม และเกรงว่าเพลิงจะลุกลามไปติดถังสารเคมีในพื้นที่ใกล้เคียง การดับเพลิงครั้งนี้ค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนต้องใช้เวลามากกว่า 40 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง จนท้ายที่สุดเวลา 17.00 น. ของวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ได้ประกาศผ่อนปรนให้ประชาชนกลับเข้าที่พักได้ และเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกไฟคลอกได้รับบาดเจ็บ 3 นาย และเสียชีวิตอีก 1 นาย

 

      จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมต้องตั้งคำถามมากมายถึงที่ตั้งของโรงงานและแหล่งที่อยู่อาศัย ที่อยู่ใกล้กันขนาดนี้ได้อย่างไร แม้กระทั่งมีหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้โรงงาน ในระยะไม่ถึง 100 เมตร จนได้รับผลกระทบอย่างหนักหนา โดย นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าในประเทศไทยมีโรงงาน 2 แห่งที่ผลิตพลาสติกขึ้นรูป คือ โรงงานหมิงตี้ฯ และโรงงานไออาร์พีซี จังหวัดระยอง แต่โรงงานหมิงตี้ฯ ใช้เทคโนโลยีไต้หวัน ไม่มี EIA เพราะเกิดก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้ และเกิดก่อนผังเมืองจะมี ซึ่งทุกปีกระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินความปลอดภัย แต่ปีนี้มีการระบาดของโควิด-19 จึงกำหนดให้โรงงานทำรายงานส่งเอง ในขณะที่โรงงานไออาร์พีซี ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมัน มี EIA ควบคุม มีระบบป้องกันทันสมัย ห่างไกลชุมชน แต่โรงงานหมิงตี้ฯ อยู่ท่ามกลางชุมชน และเทคโนโลยีเก่า ๆ ตกมาตรการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ไม่มีแม้กระทั่งแผนซ้อมอพยพในชุมชน

 

      ถ้าหากย้อนดูการก่อตั้งของโรงงานนั้น โรงงานหมิงตี้ฯ เริ่มยื่นใบขออนุญาต ตั้งแต่ ปี 2532 และเริ่มดำเนินกิจการ ตั้งแต่ ปี 2534 และถ้าเทียบจากรูปถ่ายผังเมือง เมื่อ 30 ปีก่อน ทำให้เห็นว่าโรงงานได้ตั้งอยู่ห่างใกล้จากแหล่งชุมชน และตั้งก่อนที่จะมีกฎหมายควบคุมต่าง ๆ เช่น

 

 พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 โดยโรงงานหมิงตี้ฯ จะถูกกำหนดเป็นโรงงาน ประเภท 3 คือ เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อน รำคาญ หรือเหตุอันตรายต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ คือ ห้ามใกล้บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัยอาคารชุดพักอาศัยและบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย และห้ามตั้งภายในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน

 

พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 ให้โรงงานต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA แต่โรงงานหมิงตี้ไม่ต้องจัดทำเพราะโรงงานเกิดก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้ แต่จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยหรือ ESA ในช่วงการขออนุญาตตั้งโรงงานเท่านั้น

 

      กฎกระทรวงผังเมืองรวมสมุทรปราการ ปี 2544 ได้กำหนดให้พื้นที่บริเวณซอยกิ่งแก้ว และใกล้เคียงเป็น “พื้นที่สีม่วง” หรือเขตอุตสาหกรรม แต่แวดล้อมไปด้วย “พื้นที่สีแดง” หรือย่านพาณิชยกรรม ส่งผลให้บริเวณรอบ โรงงานหมิงตี้ฯ เริ่มมีบ้านเรือนประชาชนเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจากนั้น เกิดเป็นชุมชนที่พักอาศัยขึ้นมาในภายหลัง โดยไม่มี “พื้นที่สีเขียว” ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือที่โล่ง เข้ามาคั่นระหว่างตัวโรงงานที่เป็นสถานที่เก็บสารเคมีอันตรายกับชุมชนแต่อย่างใด จนได้มีประกาศผังเมืองที่ลดระดับพื้นที่จากสีม่วง กลายเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดง ตามผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2557 ในปัจจุบันทำให้เห็นว่าในบริเวณที่ตั้งโรงงานคือเขตพื้นที่สีแดง คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ซึ่งไม่ควรมีโรงงานตั้งอยู่ได้ในพื้นที่บริเวณนี้ โดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าที่ตั้งโรงงานดังกล่าว อยู่ในพื้นที่สีแดงของผังเมืองสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับอาคารพาณิชย์และแหล่งชุมชน ทั้งที่โรงงานขนาดใหญ่แบบนี้ควรจะไปตั้งในพื้นที่สีม่วง

 

      ขณะเดียวกันทาง เฟสบุ๊ก iLaw ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. โรงงาน ปี 2562 มีการปรับเปลี่ยนและตัดบางมาตราของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 (ฉบับเดิม) อย่างเช่น การปลดล็อกให้โรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า  50 แรงม้าขึ้นไป หรือกิจการที่มีคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ถูกจัดเป็นโรงงานภายใต้การกำกับดูแลกฎหมายโรงงาน แต่จะอยู่ภายใต้การดูแลของข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 แทน ซึ่งสามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมืองหรือทำเลที่ตั้ง โดยผลที่อาจจะตามมาของการแก้ไขดังกล่าว คือ การทำให้บางโรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดเล็กและมีคนจำนวนไม่มาก แต่เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงและกระทบกับสิ่งแวดล้อม หลุดรอดจากการตรวจสอบ รวมถึงยังอาจเป็นการเอื้อให้โรงงานขนาดใหญ่สามารถตั้งโรงงานได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมถึงอาจทำให้เกิดการลัดขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดความหละหลวมในการตรวจสอบ และขาดการพิจารณาถึงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งโรงงาน และผลกระทบอื่น ๆ อีกทั้งยังยกเลิกระบบการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุก 5 ปี ซึ่งอาจทำให้ไม่มีระบบการตรวจสอบสภาพโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ใกล้ ว่ายังอยู่ในสภาพที่สามารถดำเนินการเปิดต่อไปได้หรือไม่

 

      จากเหตุการณ์โรงงานหมิงตี้ฯ ระเบิดจนทำให้เกิดไฟไหม้ในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความสูญเสียทั้งทางทรัพย์สิน และต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงแล้วนั้น ยังสะท้อนไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่มีช่องว่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผังเมืองที่ล้มเหลว ช่องว่างทางกฎหมาย กระบวนการตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงานและความปลอดภัย เมื่อโรงงาน และแหล่งชุมชน อยู่ใกล้กันมากถึงเพียงนี้ หลาย ๆ คน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง คงต้องตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญ ก่อนที่ในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นซ้ำรอยเดิม เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน


ภูริชยา ภูวญาณ : ข้อมูลจากระบบรายงานข่าวสถานการณ์คุณธรรม

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)


อ้างอิง

  • BBC NEWS. (2021). โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้: สารเคมีตกค้าง ปัญหาใหม่หลังเหตุไฟไหม้โรงงานสารเคมี จ.สมุทรปราการ, สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-57723752
  • iLaw. (2021). ร่าง พ.ร.บ. โรงงาน: ระเบิดเวลาของชุมชนและสิ่งแวดล้อม, สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564.   https://ilaw.or.th/node/5163?fbclid=IwAR3feO1DAyn5quqxm-dK7xmWFEv-aq13AbiacOEdFGY4jJMqCW2nZVxIfCU
  • โหนกระแส. (2021). เหตุโรงงานที่กิ่งแก้วระเบิดทำสารพิษลอยในอากาศ เร่งช่วยเหลือ ใครต้องรับผิดชอบ, สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=7Ydvwy-myNQ
  • บริษัท บิสซิเนส ไลเซนซ์ เอ็กซ์เพิร์ท จำกัด. (2021). กฎหมายโรงงานที่ผู้ประกอบการควรรู้, สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม2564. จาก https://business-license-expert.com/กฎหมายโรงงาน/
  • ประชาชาติธุรกิจ. (2021). โศกนาฏกรรม ‘หมิงตี้’ โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ในวงล้อมชุมชน, สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม2564. จาก https://www.prachachat.net/economy/news-707547
  • สมิตานัน หยงสตาร์. (2021). โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ : 25 ปีที่ผ่านหลายภัยพิบัติของสาวชาวสมุทรปราการ, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-57793771
  • สยามรัฐออนไลน์. (2021). เบื้องลึก! "หมิงตี้" รง.พลาสติกยักษ์ใหญ่ 1 ใน 2 ไทย เกิดก่อน EIA-ผังเมือง ชุมชนเท่ากับอยู่ในดงระเบิด, สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564. จาก https://siamrath.co.th/n/259053

ค้นหาหนังสือ

แนะนำหนังสือ

Think hack That's Great! แฮกไอเดีย แก้ปัญหาตรงใจ

สรุปเวทีรายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566 หัวข้อ “Morality in Brittle Society คุณธรรมในโลกทีเปราะบาง”

รายงานฉบับสมบูรณ์ การดำเนินงานจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ปี 2566

Infographic รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566

องค์ความรู้ มององค์กรผ่าน BOMC เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม

สตาร์ทอัพ กับการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม

องค์ความรู้ รูปแบบพฤติกรรมและกิจกรรมการทําเพื่อสังคมในบริบทของสังคมไทย

องค์ความรู้ Dialogue และ Empathy Dialogue = กระบวนการชวนคุยเพื่อทําความเข้าใจองค์กร

สื่อสารอย่างเข้าใจ ทำอะไรก็สำเร็จ : องค์ความรู้ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ ระหว่างคนต่างรุ่นในองค์กร

ผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565-2566 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิตของคนไทย 3 ช่วงวัย

คุณธรรมกับโลกยุคโกลาหล : รายงานสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 = Moral with the age of chaos

รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรม

รายงานการวิจัยเรื่อง การสำรวจสถานการณ์ทุนชีวิตคนไทย (Life Assets) ปี 2565

สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2565 และเสวนาวิชาการ “อยู่อย่างไรให้รอด ในโลกที่เปราะบางและท้าทาย”

แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

สรุปสาระสำคัญแผนปฏิบัติการฯคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

แท้จริงแล้วการพึ่งพากันทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณธรรมที่คุณสัมผัสได้ = Moral Development with Honey Bee Model

องค์ความรู้ คู่มือการจัดการแฮกกาธอน : แฮกไอเดีย สร้างนวัตกรรมทางสังคม (Moral Hackathon)

เวทีนำเสนอสถานการณ์คุณธรรม