015

 

          ความตั้งใจทำ “ความดี” ของคนแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร คือ คำถามที่ทีมนวัตกรรมองค์ความรู้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำมาออกแบบแบบสอบถามเก็บข้อมูลการตั้งปณิธานทำความดีของคนในสังคมไทย เพื่อสนับสนุนโครงการ 70 บุคคลต้นแบบ 7 ล้านความดี “ทำดีตามรอยพ่อ สานต่องานที่พ่อทำ” และเพื่อนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์จัดทำเป็นรายงานสถานการณ์การตั้งใจทำความดีของคนทุกช่วงวัย ปี 2559-2560

 

          ทีมงานออกแบบประเด็นคำถามโดยเชื่อมโยงประเด็นการตั้งใจทำความดีของคนในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันเข้ากับแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2559-2564) ที่มุ่งขับเคลื่อนคุณธรรม 4 ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

          อย่างไรก็ตาม ทีมงานตระหนักดีว่าท่ามกลางความหลากหลายของคนในสังคม การระบุประเด็นการตั้งใจทำความดีไว้เฉพาะคุณธรรม 4 ประเด็นข้างต้น อาจเป็นการ “สร้างกรอบ” การความตั้งใจทำความดีของคนในสังคมมากเกินไป ด้วยเหตุนี้แบบสอบถามจึงมีคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบเลือกนิยาม “ความดี” ที่ตนเองตั้งใจทำอย่างอิสระอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากส่วนที่เลือกตอบแบบปรนัย

 

          การเก็บข้อมูลดำเนินการใน 2 แบบ คือ 1. เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม ดำเนินการมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2559 ในโครงการ 70 บุคคลต้นแบบ 7 ล้านความดี กิจกรรมของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เช่น งานสมัชชาคุณธรรมระดับภูมิภาค และกิจกรรมที่จัดร่วมกับภาคีเครือข่าย 2. เก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ดำเนินการมาตั้งแต่ธันวาคม 2559 ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

 

          ผลการเก็บข้อมูลถึงวันที่ 10 มีนาคม 2560 พบว่ามีผู้ร่วมตั้งปณิธานความดี จำนวน 3,693 คน ในจำนวนนี้ระบุว่าเป็นเพศหญิง 2,576 คน (66.4%) เพศชาย 1,303 คน (33.6%) เมื่อจัดกลุ่มตามระดับการศึกษาพบว่า อันดับแรก ปริญญาตรี (1,471 คน คิดเป็น 40.3%) อันดับสอง ปริญญาโท (835 คน คิดเป็น 22.9%) และอันดับสาม มัธยมศึกษา (697 คน คิดเป็น 19.1%) และถ้าแบ่งตามอาชีพ อันดับแรก รับราชการ (1,653 คน คิดเป็น 46.7%) อันดับสอง อื่นๆ เช่น นักเรียน แม่บ้าน ข้าราชการบำนาญ (1,058 คน คิดเป็น 29.9%) และอันดับสาม ภาคเอกชน (226 คน คิดเป็น 6.4%)

 

          ทีมงานได้จัดการข้อมูลโดยแบ่งผู้ร่วมตั้งปณิธานตามช่วงวัย (Generation) 4 ช่วงวัย ดังนี้          1. Baby boomer คือ ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 (อายุ 53-71 ปี) 2. Generation X คือ ผู้ที่เกิดปี 2508-2522 (อายุ 38-52 ปี) 3. Generation Y คือ ผู้ที่เกิดปี 2523-2540 (อายุ 20-37 ปี) และ 4. Generation Me คือ ผู้ที่เกิดหลังปี 2540 (อายุ 20 ปีลงมา)

 

ข้อมูลการตั้งปณิธานตามช่วงวัย พบว่าผู้ตั้งปณิธานมากเป็นอันดับแรก คือ Generation X อันดับสอง มี 2 ช่วงวัย คือ Baby boomer และ Generation Me อันดับสาม คือ Generation Y คุณธรรมข้อที่ทุกช่วงวัยให้ความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ พอเพียง ตามมาด้วย วินัย จิตอาสา และสุจริต

 

          เป็นที่น่าสังเกตว่าคุณธรรมแต่ละประเด็นนั้นมีการให้ “น้ำหนัก” ที่แตกต่างกันของคนแต่ละช่วงวัย โดย “พอเพียง” ที่คน  3 ช่วงวัย คือ 1. Generation Me 2. Generation X และ 3. Baby boomer ให้ความสำคัญ คือ การประหยัด ใช้เงินอย่างรู้คุณค่า ขณะที่ Generation Y ให้ความสำคัญกับการเก็บออม ซึ่งอาจมองได้ว่าสัมพันธ์กับวิถีชีวิตที่เพิ่งก้าวสู่วัยทำงาน การเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคง จึงเป็นชุดความคิดที่สำคัญชุดหนึ่งของคนวัยนี้

 

           “วินัย” Generation Y, Generation X และ Baby boomer ให้ความสำคัญในมิติทางเศรษฐกิจ คือ วินัยในการใช้จ่าย ขณะที่ Generation Me ให้ความสำคัญในมิติของเวลา คือ การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

 

          “จิตอาสา” ที่ Generation Me, Generation Y และ Baby boomer ให้ความสำคัญ คือ การเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ขณะที่ Generation X ให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ข้อมูลชุดนี้สะท้อนว่าคนใน 3 ช่วงวัย คือ Generation Me, Generation Y และ Baby boomer มองว่าจิตอาสา คือ ความตั้งใจที่จะมีประสบการณ์ตรง ขณะที่ Generation X จิตอาสาอาจเป็นการทำตามสถานการณ์  “สุจริต” Generation Me และ Generation X ให้ความสำคัญในมิติของความสัมพันธ์ทางสังคม จากการปฏิบัติตามคำพูด รักษาสัญญา ขณะที่ Generation Y และ Baby boomer เชื่อมโยงอยู่กับความเป็นพลเมืองของรัฐ และอำนาจในการบริหาร (ซึ่งมาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น) โดย Generation Y ให้ความสำคัญกับการเสียภาษีตามหน้าที่ ขณะที่ Baby boomer ให้ความสำคัญกับการไม่เบียดบังของหลวง ไม่คอร์รัปชั่น

 

          ในส่วนของข้อมูลเชิงคุณภาพที่มาจากการเขียนบรรยาย เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้สองประเด็น คือ ปณิธาน และสิ่งที่ตั้งใจทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี จากการประมวลข้อมูลเบื้องต้น พบว่าการตั้งปณิธานความดีของผู้คนนั้นเชื่อมโยงกับตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมแต่ละช่วงวัย กรณีของ Generation Me ความดีที่อยากทำเกี่ยวข้องกับครอบครัว และโรงเรียน เช่น เคารพพ่อแม่ รับผิดชอบต่อการเรียน ส่วนวัยทำงาน     ทั้ง Generation X และ Generation Y รวมทั้ง Baby boomer เกี่ยวข้องกับการทำงานตามที่รับผิดชอบให้ออกมาดีและมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาสังคม เช่น ครูที่ตั้งใจสอนหนังสือ ข้าราชการที่ทำงานในส่วนงานที่รับผิดชอบอย่างตั้งใจ พัฒนาชุมชนที่ทำงานร่วมกับชุมชนด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เกษตรกรที่เลือกทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

 

          เป็นที่น่าสังเกตว่าการตั้งปณิธานและเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี ของทุกช่วงวัย ขยายพรมแดนจากพื้นที่ชีวิตส่วนตัวไปสู่พื้นที่สาธารณะอย่างชัดเจน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น บริจาคโลหิต บริจาคเส้นผมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง อาสาสมัครร้องเพลงให้ผู้รอรับการรักษาที่โรงพยาบาล อาสาสมัครช่วยเหลือผู้พิการ ช่วยคัดแยกขยะในชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสา

 

          ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการตั้งปณิธานความดีของคนในสังคมไทยที่กล่าวมานั้น เป็นภาพสะท้อนถึงความตั้งใจของคนหลากวัยที่มีต่อการทำความดี ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าทุกคนทำตามที่ตั้งใจได้ทั้งหมด แต่ข้อมูลนี้มีนัยสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มของการ “ปักหมุด” ความดีที่อยากทำในแบบฉบับของตนเอง

 

          ถ้ามองในภาพกว้าง ข้อมูลชุดนี้ทำให้เห็นถึงการนิยาม “ความดี” ที่หลากหลายของคนแต่ละช่วงวัย ซึ่งการทำงานขับเคลื่อนให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องคุณธรรม ต้องไม่ละเลยประเด็นนี้ เพราะเรื่องของคุณธรรม ไม่สามารถนิยามแบบผูกขาดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งได้ แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายกลุ่มมาร่วมกันนิยาม การขับเคลื่อนจึงจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะมาจากความต้องการและกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในสังคม

 

          บทความนี้เป็นการประมวลผลเบื้องต้น และยังไม่ใช่บทสรุปของรายงานสถานการณ์การตั้งใจทำความดีของคนทุกช่วงวัย ปี 2559-2560 การเก็บข้อมูลยังดำเนินการจนถึงกันยายน 2560 ผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในรายงานนี้ สามารถเข้าไปร่วมตั้งปณิธานได้ที่ http://www.moralcenter.or.th/

 

* เผยแพร่ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ มติชน 15 เมษายน 2560  https://www.matichon.co.th/news/528962

ค้นหาหนังสือ

แนะนำหนังสือ

Think hack That's Great! แฮกไอเดีย แก้ปัญหาตรงใจ

สรุปเวทีรายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566 หัวข้อ “Morality in Brittle Society คุณธรรมในโลกทีเปราะบาง”

รายงานฉบับสมบูรณ์ การดำเนินงานจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ปี 2566

Infographic รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566

องค์ความรู้ มององค์กรผ่าน BOMC เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม

สตาร์ทอัพ กับการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม

องค์ความรู้ รูปแบบพฤติกรรมและกิจกรรมการทําเพื่อสังคมในบริบทของสังคมไทย

องค์ความรู้ Dialogue และ Empathy Dialogue = กระบวนการชวนคุยเพื่อทําความเข้าใจองค์กร

สื่อสารอย่างเข้าใจ ทำอะไรก็สำเร็จ : องค์ความรู้ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ ระหว่างคนต่างรุ่นในองค์กร

ผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565-2566 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิตของคนไทย 3 ช่วงวัย

คุณธรรมกับโลกยุคโกลาหล : รายงานสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 = Moral with the age of chaos

รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรม

รายงานการวิจัยเรื่อง การสำรวจสถานการณ์ทุนชีวิตคนไทย (Life Assets) ปี 2565

สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2565 และเสวนาวิชาการ “อยู่อย่างไรให้รอด ในโลกที่เปราะบางและท้าทาย”

แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

สรุปสาระสำคัญแผนปฏิบัติการฯคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

แท้จริงแล้วการพึ่งพากันทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณธรรมที่คุณสัมผัสได้ = Moral Development with Honey Bee Model

องค์ความรู้ คู่มือการจัดการแฮกกาธอน : แฮกไอเดีย สร้างนวัตกรรมทางสังคม (Moral Hackathon)

เวทีนำเสนอสถานการณ์คุณธรรม