“ความสุข” คนที่มีความสุข คือ คนที่มีความหวัง เป็นคนที่สามารถประกอบกิจการงานประสบความสำเร็จ ตามความปรารถนา มีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว หรือวิตกกังวล มีอารมณ์มั่นคง มีความอดทน และมีความสามารถต่อสู้อุปสรรคต่างๆ ได้ เป็นคนที่ยอมรับความจริงในชีวิต ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ดังนั้น ความสุขจึงเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ไม่ว่าผู้ดี มั่งมี หรือยากจน

 

      เช้าวันที่ 22 ธันวาคม 2561 ทีมงานสื่อสารองค์กร ศูนย์คุณธรรม ออกไปตามหาความสุขกันที่ชุมชนหนองสาหร่ายพร้อมกับทีมงานรายการ “ฮีโร่ต้านโกง” จากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปพบ นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานสถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี พูดคุยกับ พี่ศิวโรฒ กับชาวบ้านในชุมชนตำบลหนองสาหร่าย เพื่อขอบันทึกเทปรายรายการ “ฮีโร่ต้านโกง” ตอน “ธนาคารความดี”

 

1

 

2

 

      “ธนาคารความดี” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อนี้บ้างแล้ว ทำไมต้องเป็นธนาคารความดี เมื่อเราเข้าไปในชุมชนหนองสาหร่าย สิ่งที่เราพบเห็นเป็นสิ่งแรก คือ ป้ายกิจกรรมจำนวนมากที่ชาวชุมชนหนองสาหร่ายได้ทำขึ้น หนึ่งในนั้นที่สะดุดตา คือ ป้ายอันใหญ่ที่เขียนว่า “ธนาคารความดี” หลังจากที่พวกเราได้พูดคุยกับชาวชุมชนหนองสาหร่าย จึงได้คำตอบว่า ธนาคารความดี คือ ธนาคารที่ก่อตั้งมาเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการพัฒนาที่ผิดพลาดตามกระแสภายนอกที่ก่อให้เกิดผลในแง่ลบ ทั้งการหายไปของวิถีชุมชน การเกิดขึ้นของภาวะนี้สินของชาวบ้าน ฯลฯ ด้วยกระแสด้านลบเช่นนี้ “ธนาคารความดีหนองสาหร่าย” จึงเกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2548 ภายใต้การพูดคุยของชาวบ้านเพื่อลดและแก้ไขปัญหาหนี้สิน “ก็เพราะความดีที่ชุมชนหนองสาหร่ายทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ” นี่คือคำตอบของพี่ศิวโรฒ ผู้ริเริ่มก่อการดี ด้วยพลังความสุขและความพอเพียง จนเกิดรูปธรรมความดีที่ชาวบ้านอิ่มท้อง หนี้สินลดลง ดัชนีความสุขเพิ่มมากขึ้น รูปธรรมที่ว่านี้ก็คือ “ธนาคารความดี” หรือ สถาบันการเงินชุมชนตำบลหนองสาหร่าย นวัตกรรมความดี สร้างชุมชนพอเพียงด้วยวินัยทางการเงิน เพิ่มความสุขมวลรวม สร้างชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขให้กับชาวบ้านตำบลหนองสาหร่าย และหวนคืนสิ่งดีงามของชุมชนหนองสาหร่ายให้กลับคืนมาอีกครั้ง 

 

3

 

4

 

      “ธนาคารความดี” ที่ชุมชนหนองสาหร่าย เป็นโมเดลคุณธรรมได้ เป็นคุณธรรมที่จับต้องได้ สัมผัสได้ถึงรูปธรรมของความพอเพียง ความมีวินัย ความสุจริต และจิตอาสาน้ำใจแบ่งปัน วิถีชีวิตในแบบพอเพียง ใช้ชีวิตในแบบปกติสุข มีให้เห็น ให้สัมผัสจากครอบครัวหลายหลังคาเรือน ชาวบ้านที่นี่ทำอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ และเกษตรกรรมที่ชุมชนหนองสาหร่ายสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเป็นจำนวนมาก และที่เป็นไฮไลต์ที่ชาวชุมชนภูมิใจนำเสนอ คือ “การทำสวนพริกและการทำสวนแคนตาลูป” น่าทึ่งนะคะ !!! ภายในชุมชนเล็กๆ เช่นนี้ กลับมีสวนพริกและสวนแคนตาลูปที่เติบโต เขียวชอุ่ม พร้อมเป็นอาหารและผลิตผลให้ชาวบ้านนำออกจำหน่ายเป็นจำนวนหลายสิบไร่

 

5

 

      “ความสุข” ของชาวบ้านที่ชุมชนหนองสาหร่าย ยังไม่หมด ที่นี่ยังมีผลงานความดีที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับสมาชิกในชุมชนตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย รุ่นคุณพ่อ คุณแม่ ไปยังรุ่นลูก หลาน แถมยังสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทีมงานพวกเราทุกคน นั่นก็คือ “รำเหย่ย” การแสดงพื้นบ้านที่ชาวบ้านภูมิใจนำเสนอพวกเราเป็นอย่างมาก ตอนแรกได้ยินชื่อก็งงนะคะว่าคืออะไร เพราะปกติคนรุ่นใหม่อย่างทีมงานของเราทุกคนมักรู้จักการแสดงพื้นบ้านจำพวก ช่อย ลิเก ฯลฯ แต่ชาวบ้านก็ไม่ปล่อยให้เราสงสัยนานค่ะ รีบอธิบายกันยกใหญ่ว่า รำเหย่ยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยการนำบริบทสภาพแวดล้อมที่เห็นมาร้องรำทำเพลง เนื้อร้องเกิดจากการร้องสด เห็นสิ่งใดตรงหน้าก็นำมาร้องได้เลย แต่แอบมีกฎนิดนึงว่า การร้องในแต่ละท่อนจะต้องลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” ในทุกท่อนและต้องมีสัมผัสใน แต่ไม่มีสัมผัสนอกค่ะ การแสดงรำเหย่ยที่ว่านี้เคยฮิตเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเกือบจะสูญหายไปเนื่องจากไม่มีใครสืบสาน แต่ยังโชคดีที่ในชุมชนตำบลหนองสาหร่าย ยังมีชาวบ้านหัวอนุรักษ์หลายคน รวมตัวกันช่วยฟื้นวัฒนธรรมสร้างความรักความผูกพันในชุมชนให้คงอยู่ การแสดงรำเหย่ย ในปัจจุบันจึงซึบซาบเข้าไปในวิถีชีวิตของเด็กๆ ในชุมชน จนกระทั่งในปัจจุบันเด็กในชุมชนหนองสาหร่ายบางคนสามารถร้องเพลงรำเหย่ยได้อย่างภูมิใจค่ะ และที่น่าภาคภูมิใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เพลงรำเหย่ย ได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงที่ส่งเสริมวิถีประชาธิปไตย และถูกส่งเสริมให้เกิดการแสดงทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศจากสถาบันพระปกเกล้าด้วย.

 


 

บทความโดย น.ส.วีนัส เวลาดี

เจ้าหน้าที่โครงการ

กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม

 

ค้นหาหนังสือ