บันได 3 ขั้น ของการพัฒนาองค์กรคุณธรรม  

..................................................

 

 01

 

         หลายองค์กรในปัจจุบัน มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง ให้เป็นองค์กรคุณธรรมอย่างแท้จริง มีการแสวงหาความรู้จากที่ต่างๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด เพื่อเป็นแนวทางของการพัฒนาองค์กรคุณธรรมที่เหมาะสมกับตนเอง สิ่งที่สำคัญที่สุด ของเรื่องนี้ อยู่ที่การระเบิดจากภายในของตนเอง ที่ต้องเห็นว่า คุณค่าของการเป็นองค์กรที่มีคุณธรรม ไม่ได้อยู่ที่การหาคำตอบให้ได้เพียงเอกสารหลักฐานเท่านั้น แต่ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและปรากฏเป็นพฤติกรรมเชิงบวกที่เป็นวิถีของคนในองค์กรนั้นเป็นสำคัญ ซึ่งการที่จะสร้างให้เกิดเป็นองค์กรคุณธรรมนั้น สามารถทำได้ และทำให้ดีได้ หากเรามีภาพที่อยากเห็นด้วยกัน เป็นระยะตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงที่สุดที่ควรจะเป็น ซึ่งคนในองค์กรนั้นๆ สามารถจะร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

 

02

 

         และเพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาองค์กรคุณธรรม โดยประสบการณ์จากการส่งเสริมของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้มีภาพความสำเร็จของการเป็นองค์กรคุณธรรม ไว้ ๓ ระดับ  หรือบันไดสามขั้น ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถนำไปเทียบเคียงการปฏิบัติที่เป็นอยู่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาต่อยอดได้ ดังต่อไปนี้

ระดับที่ ๑. มีโครงสร้างพร้อม รองรับการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม  (Expect   to   see)  ประกอบไปด้วย

  • มีการทบทวนทุนความดี ของตนเอง กำหนดทุนความดีที่อยากรักษา และมีการกำหนดปัญหาที่อยากแก้ไข อยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ขององค์กร
  • มีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่น หรือ เจตนารมณ์อันแน่วแน่ ที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรคุณธรรม ที่มุ่งประโยชน์สุขร่วมกันขององค์กรนั้นๆและร่วมกับสังคม
  • มีแผนงาน กิจกรรม หรือโครงการ ที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ตามเป้าหมายที่อยากเห็นร่วมกันนั้น
  • มีกติกา ข้อตกลง ธรรมนูญ ปฏิญญาคุณธรรมขององค์กร ที่จะปฏิบัติตามร่วมกัน
  • มีทีมงาน คณะทำงาน หรือกลุ่มคนที่รับผิดชอบดำเนินงาน ที่ชัดเจน พร้อมที่จะปฏิบัติขับเคลื่อนในแต่ละกิจกรรม  

ระดับที่ ๒. เกิดแบบอย่างความสำเร็จและองค์กรมีระบบสนับสนุนหรือมาตรการรองรับ (Like    to   see)  ในขั้นนี้ ประกอบไปด้วย

  • เกิดการเคลื่อนไหวกิจกรรม โครงการหรือแผนงานที่ส่งเสริมความดีต่อเนื่อง สม่ำเสมอ มีการปฏิบัติตามกติกา ธรรมนูญ ข้อตกลงนั้นๆ จนเป็นกิจวัตร
  • เกิดแบบอย่างที่ดี มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน ตามที่ต้องการให้ปรากฏ
  • องค์กรมีระบบงานหรือมาตรการสนับสนุน รองรับการพัฒนา เช่น การเกิดชมรม การมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การส่งเสริมยกย่องการทำความดี การให้คุณให้โทษ การรักษาคนดี หรือมีมาตรการกระตุ้น รณรงค์ต่างๆ

ระดับที่ ๓. มีผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ พร้อมถ่ายทอดขยายผล  (Love   to   see)  ประกอบไปด้วย

  • พฤติกรรมความดีที่อยากรักษา ปัญหาที่อยากแก้ไข ปรากฏเห็นผลชัดเจน เป็นรูปธรรม เปรียบเทียบก่อนดำเนินการได้
  • ความสุข ความภูมิใจ ความศรัทธาเชื่อมั่นต่อองค์กรนั้นๆ ของพนักงานที่เพิ่มขึ้น หรือคงไว้สม่ำเสมอ
  • เกิดการขยายความดี ไปสู่การทำเรื่องอื่นๆ ที่มากกว่าเดิม เชื่อมโยงความดีนั้นกับเรื่องอื่นๆ หรือกับเครือข่ายอื่นๆได้  
  • มีองค์ความดี มีผู้รู้ ที่สามารถถ่ายทอด ขยายผล ให้กับบุคคล องค์กร หน่วยงานอื่นๆ จากภายนอกได้

         พิจารณาความเป็นไปตามลักษณะนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าตั้งใจจะทำ ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว อยู่ในระดับที่ ๑ หรือระดับที่ใส่ใจส่งเสริมคุณธรรม  ถ้าสามารถทำได้จนพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และมีการสนับสนุนจากองค์กร จัดว่าอยู่ในขั้นที่ ๒ หรือขั้นระดับที่มีพฤติกรรมด้านคุณธรรมปรากฏ  แต่หากสามารถทำได้ดีแล้ว จนสามารถกล้าบอกกับคนอื่นได้ ว่าเราทำได้ ทำจริง เห็นผลจริง ท่านจงมาดูเถิด พิสูจน์ได้ ให้ตรวจสอบได้ ระดับนี้แล้ว จัดว่าอยู่ในขั้นที่ ๓ เป็นขั้นสูงสุด ควรค่าแต่การยกย่อง ขยายผล

         การเป็นองค์กรคุณธรรม จึงควรยึดหลักพิจารณาจากหลักเกณฑ์ระดับที่กล่าวมานี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เชื่อได้ว่า ทุกองค์กร ก็ล้วนแต่อยากจะมีความสำเร็จ เป็นสุข และได้แบ่งปันสร้างสรรค์สังคมทั้งนั้น เพียงแต่ต้นทุนความดีแต่ละที่อาจไม่เท่ากัน ระดับความมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรคุณธรรมก็แตกต่างกัน  ดังนั้น จึงขอให้กำลังใจทุกๆองค์กร ที่อยากจะให้องค์กรตนเองมีความสำเร็จ เป็นสุขที่ยั่งยืน อย่าได้ท้อแท้ หรือละความพยายามที่จะรักษาความดี เชื่อว่าสักวันองค์กรของเราจะเป็นหนึ่งได้เช่นกัน

   ยงจิรายุ  อุปเสน

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

กระทรวงวัฒนธรรม

ค้นหาหนังสือ