มาตรฐานด้านคุณธรรม เครื่องมือเสริมพลังองค์กร : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า


 ภป คุณธรรมองค์กร

 

          โจทย์ท้าทายหนึ่งของการทำงานเชิงพัฒนาในประเด็นที่มีความเป็นนามธรรม คือการวัดผลความเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งในกรณีของการดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยก็เผชิญกับโจทย์ท้าทายนี้เช่นกัน

 

          แนวทางการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยที่ดำเนินการโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เน้นการส่งเสริมให้องค์กรเป็นผู้กำหนดประเด็นและกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมตามบริบท โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งแนวทางนี้อยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเมื่อองค์กรต่างๆ มีการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมแล้วจะเชื่อมโยงเป็นภาพของสังคมคุณธรรม

 

          อย่างไรก็ตาม มักมีข้อคำถามเกิดขึ้นว่า ถ้าในกรณีขององค์กรที่เริ่มต้นนำมิติคุณธรรมมาใช้ในการพัฒนาองค์กรควรเริ่มต้นอย่างไร และจะติดตามความเปลี่ยนแปลงที่ี่เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไร ซึ่งจากประเด็นคำถามนี้นำมาสู่การพัฒนามาตรฐานค้นคุณธรรม เพื่อเป็นแนวทางให้กับองค์กรที่สนใจพัฒนาองค์กรในมิติคุณธรรม

 

          ปัจจุบัน กระบวนการพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนการพัฒนา (ร่าง) มาตรฐานด้านคุณธรรมสำหรับองค์กร โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็น “(ร่าง) มาตรฐานด้านคุณธรรม สู่การขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม” ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลการพัฒนา (ร่าง) มาตรฐานด้านคุณธรรม และเปิดเวที่ให้เครือข่ายทางสังคมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ

 

          ภายในงาน รศ.นพ.สุริยเดวหรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงแนวทางพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมว่าเป็นการสร้างและพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม โดยไม่ได้เป็นการรับรองหน่วยงาน แต่เป็นการสร้างมาตรฐานของคุณธรรมด้านต่างๆและส่งเสริมให้เครือข่ายทางสังคมเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม โดยมาตรฐานด้านคุณธรรมเป็นเครื่องมือแนวทางหรือไกด์ไลน์ให้องค์กรต่างๆ นำไปพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร และเป็นแนวทางที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมตัดสินใจด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในองค์กร

 

          ทั้งนี้การพัฒนาคุณธรรมต้องพัฒนาควบคู่กับจริยธรรม ที่มีความเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ โดยความสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมอยู่ที่การปลูกฝังและผ่านกระบวนการคิดตัดสินใจที่เหมาะสม

 

          หลังจากนั้นกลุ่มงานพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำเสนอ (ร่าง) มาตรฐานด้านคุณธรรมสำหรับองค์กร ซึ่งนำประเด็นคุณธรรม 4 ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต และจิตอาสา ที่คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติกำหนดเป็นประเด็นคุณธรรมที่ควรส่งเสริม เป็นจุดเริ่มตันสำหรับส่งเสริมในองค์กร (ร่าง) มาตรฐานด้านคุณธรรมสำหรับองค์กรประกอบไปด้วย 10 มิติ คือ พอเพียง 3 มิติ คือ 1) ความพอประมาณ 2) ความมีเหตุมีผลรอบรู้รอบคอบ 3) การมีภูมิคุ้มกัน  วินัย 3มิติ คือ 4) การปฏิบัติตามข้อตกลงกติกา แบบแผนที่กำหนดร่วมกันของสมาชิกในองค์กร/ชุมชน 5) การทำหน้าที่ของสมาชิกในองค์กร/ชุมชนโดยมุ่งความสำเร็จของงาน 6) ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สุจริต 2มิติ คือ 7) ความโปร่งใส 8) ธรรมาภิบาลขององค์กรและผู้นำ จิตอาสา 2 มิติคือ 9) การดูแลรักษาทรัพยากรส่วนรวม และ 10) มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับสังคม  [ผู้ที่สนใจ (ร่าง) มาตรฐานค้นคุณธรรมสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://qrgo.page.link/4wmJ4 คลังข้อมูลดิจิทัลด้านคุณธรรมความดี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)] โดยแผนการดำเนินงานต่อไปของงานพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม คือการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรนำร่อง ติดตามการเปลี่ยนแปลงและถอดองค์ความรู้จากการดำเนินงาน

 

          หลังจากการนำเสนอเป็นการเปิดเวที่ให้องค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมเวที ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานด้านคุณธรรม และแนวทางการพัฒนางานมาตรฐานด้านคุณธรรม ซึ่งประเด็นสำคัญจากการแลกเปลี่ยนมีดังต่อไปนี้ 1.ควรมีกระบวนการพัฒนาเครื่องมือที่สนับสนุนให้องค์กรพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมตามบริบทของตนเอง และนำเครื่องมือที่พัฒนาไปส่งเสริม รวมทั้งขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ 2.ผลลัพธ์ของตัวชี้วัดคุณธรรมด้านต่างๆได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ควรวัดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทขององค์กร 3.การพัฒนาเครื่องมือวัดผลความเปลี่ยนแปลง ควรมีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพิจารณาควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของสมาชิกในองค์กร 4.ควรมีการถอดบทเรียนองค์กรที่พัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม เพื่อแบ่งปันและสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่องค์กรอื่นต่อไป

 

          จากข้อเสนอแนะข้างต้นต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า (ร่าง) มาตรฐานด้านคุณธรรมที่ดำเนินการพัฒนาต้อง "ใช้ได้จริง" โดยต้องมีการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กรควบคู่กันไป รวมทั้งคำนึงถึงบริบทที่หลากหลาย บทบาทของงานมาตรฐานด้านคุณธรรมจึงเป็นเครื่องมือเสริมพลังองค์กรที่ทำให้การบริหารองค์กรมีเรื่องคุณธรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตสมาชิกในองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร

 

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

ค้นหาหนังสือ