article 11 4 63

 

           เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดตัวชี้วัดคุณธรรมใน 4 จังหวัด คือ เชียงราย พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้นำกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษามาประยุกต์ใช้กับการเก็บข้อมูลด้านคุณธรรม ด้วยวิธีเชิงคุณภาพแบบ Inside out approach โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมกระบวนการ ซึ่งประกอบไปด้วย คุณจารุปภา วะสี จากมูลนิธพิพิธภัณฑ์แม่ ดร.ศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย คุณรัชนี วิศิษฎ์วโรดม จากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คุณสุสินี วรศรีโสทร จากมูลนิธิสหธรรมิกชน และทีมวิชาการกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมระบบพฤติกรรมไทย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

 

          สำหรับประเด็นสำคัญที่จะนำมาถ่ายทอดในบทความนี้ ไม่ได้เป็นผลจากการจัดกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมโดยตรง แต่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการและเป็นภาพจำลองที่กลายเป็นสถานการณ์จริงในปัจจุบัน คือ เกมไวรัส เกมนี้ทีมกระบวนกรออกแบบเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเชื่อมโยงความหมายของคุณธรรมเข้ากับความหมายของชีวิต ด้วยการจำลองสถานการณ์สะท้อนจิตคุณธรรม ซึ่งมีสองแบบที่นำมาทดลองใช้

 

          แบบที่ 1 ตั้งคำถาม 5 ข้อในสถานการณ์ไวรัสโคโรนา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรับฟัง และเขียนตอบอย่างฉับพลัน เมื่อฟังคำถามแต่ละข้อจบ โดยไม่จำเป็นต้องบอกเล่าสิ่งที่เขียนกับคนอื่น โดยคำถาม 5 ข้อประกอบไปด้วย

1) ขณะนี้ เชื้อไวรัสโคโรนาได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จนเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลที่จะรองรับได้ ทางการจึงวางแผนจะสร้างสถานพยาบาลชั่วคราวฉุกเฉินเพื่อรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาภายในหมู่บ้านของคุณ ซึ่งสถานพยาบาลนี้อยู่ห่างจากบ้านคุณไม่ถึง 100 เมตร เมื่อทราบข่าวนี้ คนในหมู่บ้านจึงรวมตัวกันขึ้นมาต่อต้านแผนการนี้ คุณจะรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ และจะทำอย่างไรกัสถานการณ์นี้

2) คุณเป็นเจ้าของร้านขายยาและมีหน้ากากอนามัย N95 จำนวนมาก ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ในขณะนี้ แต่คุณเพิ่งได้ข่าวมาว่าสินค้ากำลังจะขาดตลาดภายในวันสองวันนี้ คุณจะรู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไรกับสินค้าที่มีอยู่

3) รัฐได้ออกมาตรการให้ขายหน้ากากอนามัยได้ไม่เกินคนละ 6 ชิ้น แต่มีลูกค้ารายหนึ่งเสนอราคาให้สูงกว่าราคาปกติ 3 เท่าต่อชิ้น โดยจะขอซื้อหน้ากากทั้งหมดที่คุณมีอยู่ คุณจะรู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไร

4) ตอนนี้ คนในหมู่บ้านติดเชื้อไวรัสโคโรนากันเป็นจำนวนมาก จนเกินความสามารถของหมอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำการดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง คุณจะรู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้

5) คุณเริ่มมีไข้ และมีอาการไอ จามเล็กน้อย คุณจะมีความรู้สึกอย่างไร และจะปฏิบัติตัวอย่างไร

 

          แบบที่ 2 เล่นเกมไวรัสระบาด โดยจำลองสถานการณ์ว่าผู้เล่นอาศัยอยู่ในชุมชนที่เริ่มมีการระบาดของไวรัส แต่ละคนมีหน้ากากอนามัยคนละ 2 ชิ้น (จำลอง) ซึ่งต้องรักษาไว้กับตัวเองอย่างน้อย 1 ชิ้นจึงจะรอดชีวิต และหากตายแล้ว เพื่อนสามารถสละหน้ากากอนามัยของตัวเองเพื่อให้คนตายกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ขณะเดียวกันผู้จัดกระบวนการจะแสดงเป็นไวรัสที่คอยแย่งหน้ากากอนามัยจากผู้เข้าร่วม ขณะเดียวกันที่โรงพยาบาลประจำชุมชน (จำลอง) ก็มีคลังหน้ากากอนามัยที่มีไวรัสคุ้มกันอยู่อย่างแน่นหนา โจทย์คือ ทำอย่างไรให้คนในชุมชนรอดชีวิตให้ได้มากที่สุดในเวลาที่กำหนด

 

โดยในช่วงท้ายของกิจกรรมทั้ง 2 แบบคือ การแลกเปลี่ยนความรู้สึก ประสบการณ์ และการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

          กิจกรรมแบบที่ 1 ได้นำไปใช้ในการจัดเวทีที่เชียงราย โดยผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์จำลองทั้ง 5 เหตุการณ์ เช่น ในคำถามข้อที่ 1 ที่จำลองสถานการณ์ว่าจะสร้างสถานพยาบาลชั่วคราวฉุกเฉินเพื่อรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโคโรนาภายในหมู่บ้าน หลายคนแสดงความรู้สึกว่ากังวล แต่ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชนโดยการเรียกประชุมลูกบ้านและลงประชามติ ถ้าลูกบ้านส่วนใหญ่ต้องการก็ดำเนินการอย่างระมัดระวังและหาจุดประนีประนอม หรือในคำถามข้อ 4 ตอนนี้ คนในหมู่บ้านติดเชื้อไวรัสโคโรนากันเป็นจำนวนมาก จนเกินความสามารถของหมอและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำการดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง หลายคนแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์นี้ว่าต้องดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดี เพราะเป็นการดูแลหมู่บ้านและชุมชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

          กิจกรรมแบบที่ 2 ได้นำไปใช้ในการจัดเวทีที่พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี ผู้เข้าร่วมทั้ง 3 พื้นที่ได้สะท้อนความรู้สึกและสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า ได้เห็นความพยายามเอาตัวรอด แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นความร่วมมือร่วมใจ การช่วยเหลือดูแลกัน โดยได้สะท้อนในช่วงการแลกเปลี่ยน เช่น

“แม้ทุกคนต่างพยายามเอาตัวรอดในยามวิกฤต อันเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ แต่เมื่อตนเองรอดแล้วก็ยังคิดหาทางช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป”

“ถ้ามีชีวิตคนเดียว จะรู้สึกโดดเดี่ยว ต้องแบ่งปันกัน”

“ถ้าเราอยากมีชีวิตอยู่รอด เราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้”

“การอยู่ในสังคมไม่ได้อยู่คนเดียว เราต้องพยายามช่วยเหลือคนอื่นด้วย”

“มีเป้าหมายร่วมกันว่าต้องอยู่รอด แต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง แต่การทำหน้าที่ของตัวเองเพียงคนเดียวไม่เพียงพอ เพื่อนที่มีเป้าหมายร่วมต้องช่วยกัน”

“ในสังคมมีคนหลายระดับ มีทั้งคนที่สามารถและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้นคนที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ควรช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ด้วย

“เกมนี้เป็นเกมชีวิตที่ย่อส่วนลงมาอย่างแท้จริง”

 

          ปัจจุบันเดือนเมษายน 2563 เกมไวรัสในวันนั้นกลายมาเป็นสถานการณ์จริงในวันนี้ สังคมไทย รวมทั้งสังคมโลกกำลังเดินมาถึงจุดท้าทายที่สำคัญ ทั้งในด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และในด้านคุณธรรมในจิตใจมนุษย์ เกมครั้งนี้จึงเป็น “เกมชีวิต” ซึ่งเกมจะจบอย่างไร และมนุษย์จะได้เรียนรู้อะไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือก แต่ถ้าสิ่งที่ผู้เข้าร่วมเล่นเกมไวรัสได้สะท้อนไว้ก่อนหน้านี้ คือมนุษย์เราอยู่รอดตามลำพังไม่ได้ แต่ต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เราจึงจะรอดไปด้วยกัน

 

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

Credeit : https://www.matichon.co.th/article/news_2123386

ค้นหาหนังสือ