ค้นหาบทความ

    เมื่อ ๓๐ ปีก่อนทางราชการได้จัดทำโครงการอีสานเขียว ด้วยการแนะนำให้เกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชผลทางเกษตรในภาคอีสาน ผลการดำเนินการตามโครงการนี้ใน ระยะแรกสามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้จริง แต่ต่อมาเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรและระบบนิเวศของพื้นที่อีสาน

     พ่อวิจิตร บุญสูง ปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดยโสธรเล่าให้ฟังว่า หลังจากใช้สารเคมี ๓-๔ ปี การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ ดินเริ่มกระด้างและแข็งจนใช้กระบือไถนาไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็นรถไถ และสัตว์น้ำในพื้นนาที่เคยมีได้สูญหายไปหมดยาฆ่าแมลงที่ใช้ปราบศัตรูพืช ได้ทำลายสัตว์ชนิดอื่นที่เคยทำลายศัตรูพืชตามธรรมชาติด้วย ระบบนิเวศจึงเริ่มถูกทำลาย และผลที่ตามมา คือ ชาวบ้านเริ่มมีการเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุบ่อยขึ้น การใช้สารเคมีช่วยเพิ่มผลผลิตทาง การเกษตรได้จริง แต่เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย และมีสารตกค้างที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงเป็นเหตุให้ต่างประเทศเริ่มมีการกวดขันสารตกค้างในผลผลิตจากประเทศไทย

 

     นอกจากนั้น เกษตรเคมีได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านจากที่พึ่งตนเอง มาเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่ต้องพึ่งนายทุนในด้านเครื่องทุนแรงและสารเคมี การเกษตรชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตสิ่งเหล่านี้เป็นภาระที่เพิ่มค่า ใช้จ่ายให้กับเกษตรกรมากขึ้นและมีจำนวนสูงขึ้นๆ เรื่อยๆ ทำให้ผลกำไรที่เกษตรกรคาดหวังว่าจะใช้ในการดำรงชีพ กลับกลายเป็นรายได้ของนายทุนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากขึ้น

 

     ในปี ๒๕๓๓ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ นักเกษตรกรรมธรรมชาติชาวญี่ปุ่นได้มาเยือนประเทศไทยและให้ความรู้เกี่ยวกับ เกษตรธรรมชาติที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

 

     การบรรยายครั้งนี้  “ตรงใจ” เกษตรกรชาวยโสธรที่เริ่มได้รับความเจ็บปวดจากเกษตรเคมี จึงมีการรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายเพื่อนธรรมชาติ” เพื่อส่งเสริมและจัดจำหน่ายข้าวปลอดสารพิษให้กับผู้บริโภค ต่อมาในปี ๒๕๓๗ ได้จัดตั้งเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรจังหวัดยโสธรเพื่อทำเกษตรปลอดสารพิษทางเคมี และได้ยกระดับจากข้าวปลอดสารพิษเป็น “ข้าวอินทรีย์” แบบรับรองมาตรฐานในปี ๒๕๔๒

 

     พ่อวิจิตรได้เล่าให้ฟังจาก ประสบการณ์ว่า การชักชวนให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิถีชีวิตกลับมาสู่เกษตรธรรมชาติเหมือนสมัยก่อน เป็นเรื่องยากเหมือน “เข็นครกขึ้นภูเขา” เพราะชาวนาต้องเพิ่มภาระในการทำปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุจากธรรมชาติ และการรับรองคุณภาพปลอดสารพิษไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ พ่อวิจิตรจึงร่วมมือกับพระคุณเจ้าพรหมมา สุภทฺโท รองเจ้าอาวาสวัดป่าสวนธรรมร่วมใจ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร จัดตั้ง“เครือข่ายคุณค่า ข้าวคุณธรรม” ในปี ๒๕๔๙ โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากชุดโครงการวิจัยการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ใน พื้นที่ ๓๖ จังหวัด สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

     วัตถุประสงค์ของโครงการนี้  เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับข้าวที่ผลิตได้ให้เป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาคนและผลผลิต โดยนำจุดแข็งด้านคุณธรรมมาใช้ภายใต้คำขวัญ “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา” จุดสำคัญของโครงการนี้ คือ การสร้างอุดมการณ์แห่งความร่วมมือใน ๒ มิติ

 

     มิติแรก เป็นการสร้างต้นแบบห่วงโซ่อุปทานหรือความต้องการสินค้าที่มีคุณค่า ด้วยกรอบความคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากชาวนาไปสู่ผู้บริโภคคนสุดท้ายอย่างมีคุณภาพ

 

     มิติที่สอง เป็นต้นแบบของการพัฒนาคนให้มีความร่วมมือกันที่จะสร้างระบบคุณธรรมให้เกิด เป็นกลไกการผลิตและการตลาด ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะช่วยให้เกิดการสร้างคนในการปฏิบัตินอกห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรมมาก ขึ้น

 

     ตามแนวคิดนี้ เกษตรกรสมาชิกเครือข่ายคุณค่าข้าวคุณธรรมต้องพัฒนาตนเองให้มี“คุณธรรม” ด้วยการตั้งปณิธานว่า “จะถือศีล ๕ และลดอบายมุข ๓ ประการ คือ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และไม่เล่นการพนัน” เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมเครือข่าย สมาชิกต้องเข้ารับการอบรมปฐมนิเทศที่วัดป่าสวนธรรมเป็นเวลา ๕ วัน เพื่อเรียนรู้การครองตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดีและศึกษาวิธีการทำเกษตร อินทรีย์ที่มีคุณภาพ พระคุณเจ้าพรหมมาได้อธิบายว่า การรักษาศีลและลดอบายมุข เป็นการ “ลดค่าใช้จ่าย” ที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถ้าเลิกอบายมุขการเที่ยวในเวลากลางคืนก็จะยิ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

 

       ในด้านการประกันคุณภาพ มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ ผู้นำกลุ่มชาวนาและพระสงฆ์ในชุมชนเป็นผู้สอนหลักธรรมให้กับสมาชิกในกลุ่ม นักส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ประเมินผลผลิตอินทรีย์ตามมาตรฐานของโครงการ โดยมีการตรวจ“ที่แปลงนา ระดับเพื่อนบ้าน และการตรวจศีลที่วัด” การตรวจศีลที่วัด พระคุณเจ้าได้ประยุกต์การปลงอาบัติของพระมาใช้ ด้วยการให้เกษตรกรที่ผิดพลาดในการรักษาศีล มาสารภาพความผิดที่กระทำกับพระและสัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก สำหรับการรับรองคุณภาพนั้น จะกระทำเป็นปีๆ หากไม่ผ่านการตรวจสอบในเรื่องความเป็นข้าวอินทรีย์บริสุทธิ์และการรักษาศีล ปราศจากอบายมุข จะไม่ได้รับการรับรองและรับผลผลิตเข้าขายในโครงการ หากปีต่อไปปรับปรุงคุณภาพก็จะได้รับการรับรองและสามารถส่งผลผลิตเข้าโครงการได้ ในด้านการบริหารโครงการ พ่อวิจิตรเล่าให้ฟังว่า ได้นำระบบสหกรณ์มาประยุกต์ใช้ในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในกลุ่มด้วยการนำ หลักความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกันมาใช้ เท่าที่ผ่านมามีสมาชิกบางรายไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ใช้วิธีการพูดคุยไกล่ เกลี่ย ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาข้อขัดข้อง ส่วนเหตุผลที่ไม่นำระบบสหกรณ์มา ใช้อย่างสมบูรณ์นั้น พ่อวิจิตรให้ความเห็นว่า ระบบสหกรณ์ของทางราชการมีความยุ่งยากในการกระบวนการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร จึงต้องใช้เพียงการประยุกต์ใช้เท่านั้น

 

     จวบจนถึงปัจจุบัน เครือข่ายคุณค่าข้าวคุณธรรมจำนวน ๑๐๘ ครัวเรือนจาก ๔ จังหวัด แม้จะมีจำนวนไม่มากเพราะมาตรฐานสูง แต่ก็เป็นก้าวแรกของการสร้างคุณค่าให้กับเกษตรกรชาวนาไทย นอกจากนั้น โครงการข้าวคุณธรรม เป็นการใช้จุดแข็งด้านศีลธรรมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออันส่งผลให้มีรายได้ ให้ดีขึ้น และเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคม เพราะเมื่อประชาชนห่างไกลการพนัน ไม่มึนเมาไปกับเหล้ายา ก็จะทำให้ครอบครัวของชาวนาที่ร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากที่ไม่เคยเหลือเก็บ เกิดทะเลาะวิวาทเมื่อเหล้าเข้าปาก ก็เปลี่ยนเป็นการหันหน้าพูดคุยกันอย่างเข้าใจ ไม่มีหนี้สินเพราะเลิกเล่นการพนัน ซึ่งสร้างความสุขให้กับสังคมและครอบครัวเป็นอย่างมาก

 

     “ข้าวคุณธรรม” เป็นแบบอย่างของความร่วมมือในชุมชน ที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้ขยายตัวไปสู่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนก่อให้เกิด “ประโยชน์สุข” อย่างแท้จริง

 

     อนึ่ง ท่านที่สนใจสนับสนุน “ข้าวคุณธรรม” เพื่ออภินันทนาการให้กับมิตรสหายในวันปีใหม่ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณนิคม เพชรผา  โทรศัพท์ ๐๘๘-๐๗๓-๔๒๗๗ หรือ Email : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


 

เขียนให้ “โพสต์ทูเดย์”

๑๕ ธ.ค.๕๗

ค้นหาหนังสือ