ค้นหาบทความ

011

 

      เมื่อปี ๒๕๕๓ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในปัจจุบัน ได้จัดทำโครงการ “องค์กรต้นแบบความซื่อตรง (Integrity) ภาครัฐ” ผลผลิตจากโครงการนั้น ทำให้เกิดองค์กรคุณธรรมความดี ๓ องค์กร คือ กรมคุมประพฤติที่มุ่งมั่นในการไม่รับสินบน-สินน้ำใจ กรมการเงินกลาโหมที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคนให้มีความซื่อตรง และกรมเทคโนโลยีสารสนเทศทหารอากาศที่มุ่งมั่นให้มีความซื่อตรง โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

 

     จากผลสัมฤทธิ์ครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดความบันดาลใจให้กับท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปราโมทย์ โชติมงคล จึงชวนท่านองคมนตรี นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ร่วมกันพัฒนาโรงเรียนที่ท่านเคยศึกษาให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมความดี เหมือนสมัยที่ท่านเป็นนักเรียน โดยเรียกชื่อว่าโครงการ“โรงเรียนคุณธรรม” และมอบให้ศูนย์คุณธรรมเป็นผู้ดำเนินการด้านวิชาการ เมื่อเริ่มต้นโครงการ ท่านผู้ใหญ่ใจดีทั้งสองได้ไปพบปะพูดคุยกับผู้บริหารและครูของโรงเรียนเน้น ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมความดีในสถานศึกษา เพื่อเป็นรากฐานของการสร้างพลเมืองดี และท่านได้ไปพบกับนักเรียนหลาย ครั้งตลอดระยะเวลาของโครงการ เพื่อสร้างกำลังใจในการสร้างคุณธรรมความดี โดยเน้นให้เห็นถึงประโยชน์ของการสร้างความเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจ “โรงเรียนของเรา”

 

     เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะ พัฒนาเป็นโรงเรียนคุณธรรม วิทยากรของศูนย์คุณธรรม ได้แก่ อาจารย์สมปอง ใจดีเฉย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรและคณะ ได้จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมระหว่างครูกับผู้บริหาร เพื่อสร้างพลังในการทำงานร่วมกันเป็นเวลา ๓ วัน หลังจากนั้น ได้จัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมความดีให้กับนักเรียนแกนนำที่สมัครใจเข้าร่วม โครงการ ด้วยการระดมความคิด ภายใต้กรอบ “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ”

 

     “ปัญหาที่อยากแก้” ได้ถูกนำไปเป็นโครงงานที่นักเรียนได้ริเริ่มพัฒนาความประพฤติของตน และ “ความดีที่อยากทำ” จะเป็นเข็มมุ่งในการทำความดีที่ทุกคนมุ่งมั่นพัฒนาจนเป็น “อัตลักษณ์ของโรงเรียน” เป็นเวลาเกือบ ๓ ปี ภายใต้การสนับสนุนทุกรูปแบบจากท่านผู้ใหญ่ใจดีทั้งสองท่าน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม สามารถนำมาเสนอเป็นต้นแบบ “โรงเรียนคุณธรรม” ในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม  ครั้งที่ ๖ ที่ศูนย์คุณธรรมจัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๖

 

     จากผลสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรมนี้ ท่านองคมนตรี เกษม วัฒนชัยได้นำไปเล่าให้แพทย์ที่ร่วมประชุม HA National Forum ๒๕๕๖ ฟัง และเสนอแนวคิดให้มีการพัฒนา “โรงพยาบาลคุณธรรม” บ้าง ทันตแพทย์ไพรัช กาวประเสริฐ ทันตแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลบางมูลนาก ซึ่งเป็นคนพิจิตรโดยกำเนิด ได้รับทราบความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม และรับรู้ถึงกระแสพลังทางสังคมในการพัฒนาคุณธรรมความดีของคนอำเภอบางมูลนาก จึงได้เกิดแนวคิดร่วมกับทีมงานจัดทำโครงการ “โรงพยาบาลคุณธรรม” ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของ นายแพทย์ ดิเรก ขำแป้น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านก่อน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม

 

     เป็นความโชคดีของคนบางมูลนากที่ กระทรวงสาธารณสุข ส่งแพทย์คนพิจิตรนักพัฒนา นายแพทย์วิศิฎฐ์ อภิสิทธิ์วิทยา มารักษาราชการผู้อำนวยการโรงพยาบาล จึงได้สานต่อโครงการนี้จนเกิดผลสัมฤทธิ์ โรงพยาบาลบางมูลนากมีจุดแข็งที่คน ในองค์กรคุ้นเคยกับการพัฒนาจากโครงการโรงพยาบาลคุณภาพ (Hospital Accreditation-HA.) และอยู่ใกล้กับโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำ กิจกรรมได้ง่าย จึงไม่ยากในการทำความเข้าใจและมุ่งมั่นพัฒนา “จากคุณภาพไปสู่คุณธรรม” หมอวิศิฎฐ์ ได้อธิบายว่า การทำกิจกรรมคุณภาพมีการประเมินจากตัวชี้วัดซึ่งสร้างความกดดันให้กับ บุคลากรเกิดความเครียด การปลุกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจึงเป็นการช่วยผ่อนคลาย และเน้นว่า โรงพยาบาลคุณธรรมไม่ใช่การนุ่งขาวห่มขาวนั่งสมาธิกันทั้งวัน

 

     แต่เป็นการปลุกเร้าคุณธรรมความดี ที่มีอยู่ในตัวทุกคนจากความเป็นมนุษย์ ออกมาเป็นอัตลักษณ์ขององค์กรที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และใช้เป็นเข็มมุ่งในการทำความดีเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อขยายผลไปสู่คุณธรรมอื่นๆ ในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข หมอไพรัชได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในโครงการโรงพยาบาลคุณภาพ มีกิจกรรมการสร้างความสุขที่แท้จริงด้วย ๘ Happy ของ สสส. ได้แก่ ความสุขทางร่างกาย จิตใจ การมีความรู้ มีน้ำใจ จิตวิญญาณหรือความดี การพักผ่อน และมีฐานะทางการเงินที่ เป็นความสุขส่วนบุคคล และอีกสองมิติ คือ ความสุขในครอบครัวและสังคมที่มีความสุข ซึ่งสอดคล้องกับโรงพยาลคุณธรรมที่มุ่งเน้น “ธรรมะสร้างสุข” ให้กับคนในสังคม

 

     จากความพร้อมดังกล่าว โรงพยาบาลบางมูลนาก ได้เริ่มโครงการด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรของโรง พยาบาลในประเด็น “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ” โดยมีอาจารย์ประกาศิต เลี่ยมสุวรรณ จากโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม เป็นผู้ให้คำแนะนำการทำกิจกรรม “ค่านิยม” ที่เป็นความดีที่ทุกคนอยากทำ คือ “เมตตา เสียสละ รับผิดชอบ” ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานของบุคลากรสายการแพทย์ และทุกคนในโรงพยาบาลพร้อมที่จะสร้างเป็น “อัตลักษณ์” ของโรงพยาบาล ส่วนปัญหาที่อยากแก้ได้ถูกแปลง เป็นโครงงาน ที่แต่ละส่วนงานมีความมุ่งมั่นร่วมกันแก้ไขปัญหาหรือความบกพร่องที่เคยเกิด ขึ้น และถอดบทเรียนว่าเกิดคุณธรรมอะไรขึ้นบ้าง

 

     เป็นเวลา ๑ ปีเศษที่โครงการพัฒนาโรงพยาบาลบางมูลนากจาก “คุณภาพสู่คุณธรรม” ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณธรรมความดีอย่างเป็นรูปธรรม และจะก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง หมอไพรัชได้สรุปปัจจัยที่ก่อให้ เกิดโรงเรียนคุณธรรมและนำมาขยายผลเป็นโรงพยาบาลคุณธรรม ซึ่งคุณหมอเรียกว่า “เมล็ดพันธุ์แห่งความดี” ๕ ประการ คือ

 

ประการแรก ต้องร่วมมือกันแสวงหาอัตลักษณ์ขององค์กรและยึดถือเป็นค่านิยมร่วมที่ยั่งยืน ด้วยการนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยของคน และขยายผลจนเป็น“วัฒนธรรมองค์กร”

 

ประการที่สอง ต้องสร้าง “แกนนำ” ที่มีความเข้าใจในการขับเคลื่อนโครงการและมีพลังในการขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จ

 

ประการที่สาม ต้องสร้างโครงงานคุณธรรมที่มาจาก “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ” และดำเนินการจนเกิดผล และมีการถอดบทเรียนมาเป็นคุณธรรมที่ปรารถนา

 

ประการที่สี่ ต้องจัดตลาดนัดคุณธรรมเพื่อเผยแพร่กิจกรรมแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนเรียน รู้เพื่อพัฒนาแนวทางการสร้างคุณธรรมที่ปรารถนา ตามแนวคิด “ทำดีต้องมีแชร์” “ทำดีมีที่ยืน” และ “ทำดีก๊อปปี้ได้”

 

และประการที่ห้า มี “กัลยาณมิตร” ที่สนับสนุนและให้กำลังใจในการทำความดีอย่างต่อเนื่อง

 

     ความสำเร็จของการพัฒนาโรงพยาบาล บางมูลนากเป็น “โรงพยาบาลคุณธรรม” นี้ น่าจะเกิดจากปัจจัยประการที่ ๕ เนื่องจากโครงการนี้ได้รับพลังสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี ๒ ท่านที่เป็นชาวพิจิตรซึ่งมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณธรรมความดีให้สังคม คือ ท่านองคมนตรีเกษม วัฒนชัยและท่านปราโมทย์ โชติมงคล นอกจากนั้น การที่ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ ณรงค์ สหเมธาพํฒน์ เคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลนี้มาก่อน ได้เป็นแบบอย่าง และเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล จึงเกิดแรงผลักดันให้เกิดสิ่งดีงามนี้ เพื่อเป็น “แบบอย่าง” ให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ประกอบกับบุคลากรที่รับผิดชอบ คือ หมอวิศิฎฐ์ และหมอไพรัชเป็นชาวพิจิตรโดยกำเนิด จึงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

 

     อีกทั้ง การที่บุคลากรในโรงพยาบาลมีจิตสำนึกในการพัฒนาองค์กร และอยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ ก็เป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายโรงพยาบาลคุณธรรมได้โดยง่าย

 

     มาถึงวันนี้ กระแสสังคมของคนในอำเภอบางมูลนากที่มีต่อองค์กรคุณธรรมแรงมากขึ้น จึงมีโครงการพัฒนา “อำเภอคุณธรรม” และอาจมี “อบต.คุณธรรม” กับ “เทศบาลคุณธรรม” เกิดขึ้นตามมา ขณะนี้ กระแส “ปฏิรูป” กำลังแรง จึงหวังว่าจะได้เห็น “ที่ดินคุณธรรม” “โรงพักคุณธรรม” “สรรพากรคุณธรรม” และ “ศุลกากรคุณธรรม” หรือองค์กรอื่นๆ “คุณธรรม” เกิดขึ้นในอนาคต

 


 

เขียนให้ “โพสต์ทูเดย์”

๒๔ พ.ย.๕๗

ค้นหาหนังสือ