1

 

“คุณธรรม” ที่ยึดโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมมีลักษณะอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่นำมาชวนคิดชวนคุยในกลุ่มภาคีเครือข่ายและผู้เข้าร่วมงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และภาคีสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการสื่อสารและสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

กระบวนการพูดคุยในงานสมัชชาครั้งนี้ มีตั้งแต่การปาฐกถา การเสวนา และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เริ่มจากปาฐกถาเรื่อง “อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนสังคมพหุวัฒนธรรม” ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงสาระสำคัญ 3 เรื่องที่ต้องคำนึงถึงในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ศาสนา ชาติพันธุ์ และความเป็นพลเมือง โดยชี้ให้เห็นว่าผู้คนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่นี้อาจมีความต่างกันเรื่องศาสนาหรือชาติพันธุ์ แต่มีจุดร่วมกันในเรื่องของความเป็นพลเมือง

 

ศ.ดร.กนกยังได้เสนอถึงการสร้างรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ว่าประกอบไปด้วย 1.การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การยอมรับ 2.การใช้เหตุผลคิดวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ปัญหา และ 3.การสร้างความไว้วางใจ โดยมีกระบวนการสมัชชา การเสวนาสร้างสรรค์ และการศึกษาวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุน

 

ในส่วนของการเสวนาและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้เขียนเข้ารับฟังในห้องย่อยเรื่อง “แนวทางการสร้างเสริมคุณธรรม-ความพอเพียง” วิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน คือ ผศ.ดร.ณฐพงษ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ อาจารย์ซอและห์ ตาเละ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการพิเศษ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

 

ผศ.ดร.ณฐพงษ์ กล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการสมัชชาคุณธรรม ว่าเป็นความพยายามเปิดพื้นที่พูดคุย ทำให้แนวทางการส่งเสริมคุณธรรม “ที่มีชีวิต” มีคนกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันหนุนเสริม และสร้างพลังในการขับเคลื่อนในรูปแบบของนโยบายสาธารณะ

 

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่องที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.คุณธรรมมีความเป็นนามธรรม ยากต่อการกำหนดคุณลักษณะเป็นรูปธรรม ทำให้หลายครั้งการส่งเสริมคุณธรรมกลายเป็นเรื่องของ “คนดี” บางกลุ่มที่มากำหนดบรรทัดฐานความดีของสังคม 2.การเสริมสร้างคุณธรรม มักมองว่า ปัญหาคุณธรรมเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคล มากกว่ามองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การมองปัญหาคนจนว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่มองเชื่อมโยงกับปัญหาการถือครองที่ดินในสังคมไทย ที่พบว่าที่ดินกระจุกตัวกับคนบางกลุ่ม ขณะที่คนจนจำนวนมากยังคงไร้ที่ดินทำกิน

 

การขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมจึงต้องไม่มองเรื่องคุณธรรมแบบหยุดนิ่งตายตัว หรือโหยหาตัวแบบเชิงอุดมคติ แต่การสร้างสังคมคุณธรรมต้องออกแบบให้ปรับเปลี่ยนได้ตามพลวัตของสังคม โดยต้องมองข้ามปรากฏการณ์ที่เป็นมายาคติ ค้นหาปัญหาคุณธรรมร่วมกัน เพราะการเสริมสร้างคุณธรรมไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม ถ้าทำเช่นนั้นจะกลายเป็นปรากฏการณ์ฉาบฉวย การเสริมสร้างคุณธรรมต้องเชื่อมกับการพัฒนาชุมชน เสริมสร้างศักยภาพกลุ่มผู้นำ และเสริมสร้างความรู้เท่าทันของคนในสังคม

 

ผศ.ดร.ณฐพงษ์ นำเสนอตัวอย่างรูปธรรมของการทำงานร่วมกับชุมชน คือเครือข่ายชุมชนศรัทธา หรือ “กัมปงตักวา” ที่ใช้หลักศาสนาเป็นกลไกเชื่อมร้อยคนในชุมชนผ่าน 4 เสาหลัก คือ ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม สมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และแกนนำชุมชน ในชุมชนจะมีการออกแบบกฎกติกา และตัวชี้วัดร่วมกัน เช่น การกำหนดร่วมกันว่าร้านค้าชุมชนจะปิดในวันศุกร์ช่วงบ่าย เพื่อเอื้อให้คนในชุมชนไปประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิด หรือการกำหนดร่วมกันให้ร้านค้าชุมชนงดจำหน่ายสุรา โดยผลที่เกิดขึ้น คือปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในชุมชนลดลง การไปละหมาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การให้ความสำคัญกับกลไกชุมชนจึงสำคัญมาก เพราะเป็นการผนึกกำลังเสริมสร้างคุณธรรมจากฐานล่าง เกิดเป็นคุณธรรมระดับชุมชน

 

อาจารย์ซอและห์กล่าวถึงพหุวัฒนธรรมกับศาสนาอิสลามว่า พหุวัฒนธรรมคือความหลากหลาย อิสลามยอมรับว่าโลกมีความหลากหลาย และความหลากหลายคือความเป็นจริง และเป็นความสวยงาม ความหลากหลายยังทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ เกิดการรู้จักกัน

 

หลักการของคุณธรรม เกิดจากความเชื่อและความหวัง อิสลามให้ความสำคัญกับความเชื่อ ความศรัทธาที่โยงกับพระผู้เป็นเจ้าและโลกหน้า ความเชื่อต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นพลังมหาศาล ขณะที่ความเชื่อในนรก-สวรรค์ ทำให้เกิดการบริจาคโดยหวังว่าจะขึ้นสวรรค์ พลังเหล่านี้ทำให้เกิดทั้งความกลัวและความหวัง ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นพลังควบคุมคุณธรรมที่ต้องมีความสมดุลกัน

 

ในประเด็นความพอเพียง ผศ.ดร.ณฐพงษ์ มีข้อเสนอว่า 1.ต้องพิจารณาเรื่องความพอเพียง เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น เช่น การทำเรื่องชุมชนศรัทธา “กัมปงตักวา” ที่เชื่อมหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่ชุมชนคุณธรรมได้ในที่สุด 2.ทำให้เรื่องความ

 

พอเพียงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นได้ที่ตนเอง 3.รื้อมายาคติของโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม 4.ขจัดความแย้งย้อนของสังคม เช่น การยกย่องเชิดชูเศรษฐี อดีตข้าราชการระดับสูงที่ไปทำนา โดยหลงลืมชาวนาทั่วไปที่ทำนาอยู่อีกมากมาย 5.สร้างสภาวะและออกแบบสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการส่งเสริมความพอเพียงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม จนถึงระดับประเทศ 6.แปลงความพอเพียงให้เป็นเรื่องรูปธรรม สู่ปฏิบัติการจริง ไม่ใช่การท่องจำ

 

ขณะที่อาจารย์ซอและห์ เสนอว่าเจ้าของทรัพย์สินต้องแบ่งปัน เชื่อมความมั่งคั่งกับความยากจน ทรัพย์สินของคนรวยต้องแบ่งปันให้คนยากจน เพื่อสร้างความสมดุล ความพอเพียง คือคุณธรรมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นหน้าที่ของสังคมและรัฐต้องร่วมกันสร้าง

 

ช่วงเวทีแลกเปลี่ยน ผู้เข้าร่วมได้เสนอความคิดเห็นถึงทิศทางการขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมว่าต้องทำให้เรื่องคุณธรรมอยู่ในวิถีชีวิต “ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” และกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมต้อง “ทำแบบรากหญ้า อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง” คือให้ชุมชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งนำเอามิติทางสังคมและวัฒนธรรมมาใช้ในการดำเนินงาน

 

เมื่อย้อนกลับไปคำถามที่ตั้งไว้ตอนต้นว่า “คุณธรรม” ที่ยึดโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมมีลักษณะอย่างไร จะพบว่าข้อเสนอที่เกิดจากการปาฐกถา การเสวนา และเวทีแลกเปลี่ยน ไปในทิศทางเดียวกันว่า คุณธรรมที่ยึดโยงผู้คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมไว้ได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่หลักคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่ง แต่อยู่ที่กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การนิยามความหมาย และการกำหนดกติการ่วมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมจึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมได้จริงและมีความยั่งยืน


 

โดย  ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

หัวหน้ากลุ่มงานนวัตกรรมองค์ความรู้เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม

ค้นหาหนังสือ

แนะนำหนังสือ

การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา

แนวทางการส่งเสริมองค์กรคุณธรรม

Think hack That's Great! แฮกไอเดีย แก้ปัญหาตรงใจ

สรุปเวทีรายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566 หัวข้อ “Morality in Brittle Society คุณธรรมในโลกทีเปราะบาง”

รายงานฉบับสมบูรณ์ การดำเนินงานจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ปี 2566

Infographic รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566

องค์ความรู้ มององค์กรผ่าน BOMC เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม

สตาร์ทอัพ กับการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม

องค์ความรู้ รูปแบบพฤติกรรมและกิจกรรมการทําเพื่อสังคมในบริบทของสังคมไทย

องค์ความรู้ Dialogue และ Empathy Dialogue = กระบวนการชวนคุยเพื่อทําความเข้าใจองค์กร

สื่อสารอย่างเข้าใจ ทำอะไรก็สำเร็จ : องค์ความรู้ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ ระหว่างคนต่างรุ่นในองค์กร

ผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565-2566 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิตของคนไทย 3 ช่วงวัย

คุณธรรมกับโลกยุคโกลาหล : รายงานสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 = Moral with the age of chaos

รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรม

รายงานการวิจัยเรื่อง การสำรวจสถานการณ์ทุนชีวิตคนไทย (Life Assets) ปี 2565

สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2565 และเสวนาวิชาการ “อยู่อย่างไรให้รอด ในโลกที่เปราะบางและท้าทาย”

แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

สรุปสาระสำคัญแผนปฏิบัติการฯคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

แท้จริงแล้วการพึ่งพากันทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณธรรมที่คุณสัมผัสได้ = Moral Development with Honey Bee Model