https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2020/10/%E0%B8%A0%E0%B8%9B-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1.jpg 

กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงนั้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็น จนเกิดแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การปฏิบัติ

 

เดือนสิงหาคม 2563 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในรูปแบบของงานสมัชชาคุณธรรมที่จัดใน 4 จังหวัดนำร่องสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม คือ เชียงราย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี

 

งานสมัชชาคุณธรรมทั้ง 4 จังหวัดนี้มีจุดร่วมกันที่ทุกจังหวัดมีการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมภายในจังหวัดตนเองโดยสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการระดมความคิดเห็นถึงแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม โดยทั้ง 4 จังหวัดมีประเด็นแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจดังนี้

 

สมัชชาคุณธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดขึ้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2563 ด้วยแนวคิด “ชาวอยุธยามีวินัย ใส่ใจส่วนรวม” จากการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมในจังหวัด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พบว่าพฤติกรรมเชิงบวกที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นลำดับที่หนึ่ง คือ การใช้ผ้าปิดจมูกขณะที่ตนเองเป็นหวัด ซึ่งสะท้อนการมีวินัยของประชาชน ลำดับที่สอง คือการดำเนินงานในรูปแบบกรรมการ สร้างกลุ่ม สร้างเครือข่ายในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและนำไปสู่จุดหมาย และลำดับที่สาม คือการไม่ทุจริตในการปฏิบัติงานในหน้าที่ โดยสรุปคุณธรรมเชิงบวกที่พบในพระนครศรีอยุธยาเป็นเรื่องวินัยและสุจริต และสำหรับสถานการณ์คุณธรรมเชิงลบ พบว่าเป็นประเด็นในเรื่องวินัยและสุจริตเช่นกัน โดยลำดับแรกคือ ปัญหาขยะ รองลงมา คือระบบอุปถัมภ์ในการทำงาน และลำดับที่สาม คือปัญหาเด็กเยาวชน และครอบครัว

 

แนวทางขับเคลื่อนพระนครศรีอยุธยา สู่การเป็นจังหวัดคุณธรรมที่แลกเปลี่ยนจากเวทีสมัชชาคุณธรรม ผู้เข้าร่วมได้เชื่อมโยงเรื่องคุณธรรมกับความเป็นพลเมือง โดยเสนอว่าควรมองทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมว่าเป็นการสร้างพลเมือง ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับปัจเจก โดยเริ่มจากสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง และขยายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ด้วยกลไกชุมชน และในทางปฏิบัติกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมควร “อยู่ในขอบเขตที่ทำได้” เช่น เป็นกิจกรรมที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ ในองค์กร โดยผู้เข้าร่วมได้ยกตัวอย่างโครงการธนาคารขยะของโรงเรียนไตรราชวิทยาที่รณรงค์คัดแยกขยะ และจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน

 

 

แนวทางขับเคลื่อนอุดรธานีสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม ผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาคุณธรรมได้สะท้อนว่าการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมต้องเริ่มต้นจากตนเอง และถ้าในระดับองค์กรก็ควรเชื่อมโยงประเด็นคุณธรรมกับปรัชญาขององค์กร โดยปัจจัยและเงื่อนไขที่ทำให้งานส่งเสริมคุณธรรมประสบความสำเร็จ ได้แก่ กระบวนการยกย่องชื่นชมคนทำดี สร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยการออกแบบกิจกรรมต่างๆ การส่งต่อชุดคุณค่าด้วยกระบวนการมีส่วนรวม และผู้นำในระดับต่างๆ ต้องเห็นความสำคัญ โดยได้มีการยกตัวอย่าง กิจกรรม “สภาอาสาปันใจให้น้อง” ของโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ซึ่งเป็นกิจกรรมรับบริจาคสิ่งของ โดยผู้บริจาคจะได้เรียนรู้เรื่องการให้ และสภานักเรียนจะนำของที่ได้รับบริจาคมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลน สำหรับประเด็นตัวชี้วัดหรือรูปธรรมความสำเร็จ วงแลกเปลี่ยนเห็นร่วมกันว่า ควรดูจากกระบวนการ และผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

 

สมัชชาคุณธรรมจังหวัดเชียงราย จัดขึ้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2563 ด้วยแนวคิด “เชียงรายเมืองแห่งคุณธรรม นำพาประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข” จากการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมในจังหวัดที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในส่วนของการสืบค้นข้อมูลจากข่าว จำนวน 47 แหล่งข่าว จากเนื้อหาข่าวทั้งหมด จำนวน 499 ข่าว พบว่ามีสถานการณ์คุณธรรมด้านดีมากกว่าสถานการณ์คุณธรรมด้านที่ไม่ดี กล่าวคือ สถานการณ์คุณธรรมด้านดีมีจำนวนทั้งหมด 275 สถานการณ์ และสถานการณ์คุณธรรมด้านไม่ดี จำนวน 224 สถานการณ์ (คิดเป็น 55.11% ต่อ 44.89%) โดยมีเรื่องสุจริตมากที่สุด และในส่วนของประเด็นคุณธรรมที่ควรปลูกฝัง คือ ความมีวินัยและความรับผิดชอบ

 

แนวทางขับเคลื่อนเชียงรายสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม ผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาคุณธรรมได้ตั้งคำถามชวนคิดว่า จังหวัดคุณธรรมจะสำเร็จได้อย่างน้อยต้องมี 5 องค์ประกอบ คือ 1.ใครเป็นคนขับเคลื่อน 2.ใครเป็นผู้เชื่อมโยง 3.ใครเป็นผู้ประสาน 4.ใครเป็นผู้สนับสนุน 5.ใครเป็นผู้ร่วมมือ และได้เสนอถึงการส่งเสริมคุณธรรมว่าเป็นการทำความดีที่ควรทำให้ครบ 5 อย่าง 1.ทำดีต่อตัวเอง 2.ทำดีต่อครอบครัว 3.ทำดีต่อเพื่อนบ้าน 4.ทำดีต่อสังคม 5.ทำดีต่อธรรมชาติ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของเชียงราย การสร้างการมีส่วนร่วมของรากหญ้าในกระบวนการขับเคลื่อนคุณธรรม

 

สมัชชาคุณธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563 ด้วยแนวคิด “สุราษฎร์ธานี เมืองคนดี มีวินัย ใจสะอาด ไม่ขาดคุณธรรม” ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมในจังหวัด โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี พบว่าสถานการณ์คุณธรรมเชิงบวก 3 ลำดับแรก คือ 1.ทำงานในรูปกรรมการโดยยอมรับเสียงมติส่วนใหญ่ 2.ความสามัคคี ร่วมใจทำความดี ผ่านกิจกรรมต่างๆ 3.มีการเสียสละ เพื่อช่วยเหลือทำงานสาธารณประโยชน์ให้สังคม สถานการณ์คุณธรรรมเชิงลบ 3 ลำดับแรก คือ 1.ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัว เช่น ปัญหาเด็กติดเกมภาวะซึมเศร้า ปัญหาวัยรุ่นทะเลาะวิวาท 2.การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ 3.การทุจริตในภาครัฐ ในประเด็นหลักคุณธรรมที่ควรยึดถือเพื่อการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน/ท้องถิ่น 3 ลำดับแรก คือ 1.ความมีน้ำใจ/เอื้อเฟื้อต่อกัน 2.เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน 3.ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

 

แนวทางขับเคลื่อนสุราษฎร์ธานีสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม ผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาคุณธรรมได้เสนอว่าการขับเคลื่อนคุณธรรมควรสอดคล้องไปตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน โดยไม่แยกออกมาเป็นการเฉพาะ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่มีความซื่อสัตย์ในการทำเกษตรกรรม ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อม หรือในกรณีของสถานศึกษาที่ออกแบบกิจกรรมที่มีการสอดแทรกประเด็นคุณธรรม เช่น การบริจาคสิ่งของ การไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน

 

นอกจากประเด็นเฉพาะของแต่ละจังหวัดที่นำไปกำหนดทิศทางขับเคลื่อนคุณธรรมแล้ว การแลกเปลี่ยน 4 เวที ใน 4 จังหวัดของงานสมัชชาคุณธรรม ยังทำให้เห็นจุดร่วมของภาคีสมัชชาคุณธรรม ที่ช่วยกัน “ส่งเสียง” ซึ่งมีนัยสำคัญไปถึงการกำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยที่ว่า การทำความดีกับวิถีชีวิตนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน

 

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่สามารถสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อน และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง จึงไม่ใช่การแยกประเด็นคุณธรรมออกมาโดยเฉพาะ และสั่งการแบบบนลงล่าง แต่ในทางกลับกันกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมควรเชื่อมโยงเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างพื้นที่ของการมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat



 คัดลอกจาก : https://www.matichon.co.th/article/news_2387192

ค้นหาหนังสือ

แนะนำหนังสือ

การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา

แนวทางการส่งเสริมองค์กรคุณธรรม

Think hack That's Great! แฮกไอเดีย แก้ปัญหาตรงใจ

สรุปเวทีรายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566 หัวข้อ “Morality in Brittle Society คุณธรรมในโลกทีเปราะบาง”

รายงานฉบับสมบูรณ์ การดำเนินงานจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ปี 2566

Infographic รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566

องค์ความรู้ มององค์กรผ่าน BOMC เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม

สตาร์ทอัพ กับการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม

องค์ความรู้ รูปแบบพฤติกรรมและกิจกรรมการทําเพื่อสังคมในบริบทของสังคมไทย

องค์ความรู้ Dialogue และ Empathy Dialogue = กระบวนการชวนคุยเพื่อทําความเข้าใจองค์กร

สื่อสารอย่างเข้าใจ ทำอะไรก็สำเร็จ : องค์ความรู้ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ ระหว่างคนต่างรุ่นในองค์กร

ผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565-2566 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิตของคนไทย 3 ช่วงวัย

คุณธรรมกับโลกยุคโกลาหล : รายงานสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 = Moral with the age of chaos

รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรม

รายงานการวิจัยเรื่อง การสำรวจสถานการณ์ทุนชีวิตคนไทย (Life Assets) ปี 2565

สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2565 และเสวนาวิชาการ “อยู่อย่างไรให้รอด ในโลกที่เปราะบางและท้าทาย”

แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

สรุปสาระสำคัญแผนปฏิบัติการฯคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

แท้จริงแล้วการพึ่งพากันทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณธรรมที่คุณสัมผัสได้ = Moral Development with Honey Bee Model