“คุณธรรม” เป็นคำที่สร้างการถกเถียงมาตลอด ตั้งแต่นิยามความหมาย การเลือกประเด็นคุณธรรมที่ควรส่งเสริม ไปจนถึงการวัดผลความเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณธรรมในสังคม แต่การถกเถียงด้วยกระบวนการแล้วไม่ได้เป็นสิ่งที่สร้างปัญหา ในทางกลับกันการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มาจากมุมมองที่แตกต่าง โดยพร้อมรับฟัง เพื่อเข้าใจ มองหาจุดร่วม และขับเคลื่อนงานไปด้วยกันเป็นเส้นทางที่สร้างสรรค์และเป็นทางออกของสังคมมากกว่า

 

     ปีนี้ (2563) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคุณธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผลการศึกษาพบว่า การรับรู้ด้านคุณธรรมในภาพรวม 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ ซึ่งเป็นประเด็นคุณธรรมที่มีการรณรงค์ในระดับนโยบาย กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้อยู่ในระดับขั้นการให้เหตุผลเชิงจริยธรรมของโคลเบิร์ก ระดับขั้นที่ 5 คือ กระทำตามข้อตกลงของสังคม โดยเป็นการแสดงพฤติกรรมปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับและยึดถือ ซึ่งเป็นการคำนึงถึงผู้อื่นหรือผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

 

     คุณธรรมที่มีการรับรู้มากเป็นลำดับที่ 1 คือ รับผิดชอบ จำนวน 99 คน คิดเป็นร้อยละ 47.1 ลำดับที่ 2 คือ พอเพียง จำนวน 94 คน คิดเป็นร้อยละ 44.8 ลำดับที่ 3 จิตสาธารณะ จำนวน 86 คน คิดเป็นร้อยละ 41.0 ลำดับที่ 4 วินัย จำนวน 85 คน คิดเป็นร้อยละ 40.5 และลำดับที่ 5 สุจริต จำนวน 78 คน คิดเป็นร้อยละ 37.1

 

     การรับรู้ด้านคุณธรรมรายด้านตามช่วงวัย เมื่อวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยการรับรู้ด้านคุณธรรมรายด้าน ตามช่วงวัย 4 ช่วงวัย คือ 1) Baby Boomer (อายุระหว่าง 55-73 ปี) 2) Generation X (อายุระหว่าง 39-54 ปี) 3) Generation Y (อายุระหว่าง 23-38 ปี) 4) Generation Z (อายุระหว่าง 13-22 ปี) พบว่า Baby Boomer เป็นกลุ่มที่มีการรับรู้ด้านคุณธรรมสูงเป็นลำดับที่ 1 ใน 3 ประเด็นคุณธรรม คือ พอเพียง สุจริต จิตสาธารณะ Generation X มีการรับรู้ด้านคุณธรรมสูงเป็นลำดับที่ 1 ใน 2 ประเด็นคุณธรรม คือ วินัย และรับผิดชอบ
 

     ขณะที่ Generation Y และ Generation Z มีการรับรู้ด้านคุณธรรมทั้ง 5 ประเด็นอยู่ในระดับ 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งประเด็นการรับรู้ด้านคุณธรรมของ Generation Y และ Generation Z นี้มีความเชื่อมโยงกับการจัดกระบวนการกลุ่มของคณะผู้วิจัย โดยในช่วงที่ดำเนินการนั้นมีการตั้งคำถามจากผู้เข้าร่วมใน 2 ช่วงวัยนี้ค่อนข้างมาก ตั้งแต่การตั้งคำถามว่าทำไมต้องเลือกคุณธรรม 5 ประเด็นนี้มาจัดกระบวนการ ไปจนถึงสามารถนิยามคุณธรรมในแบบที่ต่างจากที่มีการกำหนดมาได้หรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคุณธรรม 5 ประเด็นตั้งต้น อาจเชื่อมโยงกับชุดประสบการณ์ของคนบางช่วงวัย เช่น Baby Boomer และ Generation X ได้ดี แต่อาจไม่เชื่อมโยงกับชุดประสบการณ์ของ Generation Y และ Generation Z มากนัก

 

     ผลจากการศึกษานี้ทำให้ทีมวิจัยได้เสนอว่า การพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมและกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่จะดำเนินการต่อไป ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องช่วงวัยว่าประเด็นคุณธรรมใดสามารถเชื่อมโยงกับชุดประสบการณ์ของคนในวัยใด และข้อมูลชุดนี้เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีต้นทุนความรู้ด้านคุณธรรมมากพอสมควร ซึ่งโจทย์ที่ท้าทายต่อไป คือจะเปิดพื้นที่ให้มีการส่งเสริมคุณธรรมในประเด็นที่หลากหลาย และแปลงความรู้ความเข้าใจเรื่องคุณธรรมสู่การปฏิบัติเป็นพฤติกรรมได้อย่างไร

 

     นอกจากนั้น การส่งเสริมคุณธรรมก็ไม่ใช่การส่งเสริมในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่มีความจำเป็นต้องสร้างสังคมหรือระบบนิเวศที่เอื้อให้ “คนดีมีที่ยืน” โดยเฉพาะประเด็นคุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อย่างเช่น ประเด็นสุจริต ซึ่งผู้ที่ยืนกรานในจุดยืนนี้สะท้อนผ่านการจัดกระบวนการกลุ่มว่าต้องมีกลไก ระบบ หรือโครงสร้างที่เอื้อต่อการดำรงซึ่งคุณธรรมนี้จึงจะทำให้ปัจเจกสามารถยืนหยัดอยู่ได้

 

     ในประเด็นสุจริตนั้นเป็นที่น่าสนใจว่า จากการศึกษาของ จุลนี เทียนไทย และคณะ (2563) เรื่องการสร้างความเข้าใจคุณลักษณะ พฤติกรรมและทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งทำการศึกษาในกลุ่มคน Generation Y และ Generation Z พบว่า เป็นหลักคุณธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการเป็นพลเมืองที่ดีของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่เรื่องแรก จากทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1.ความสุจริต 2.ความกตัญญูกตเวที 3.หลักคุณธรรมสากล (Global mindset) และ 4.หลักคุณธรรมในโลกออนไลน์ที่จะต้องเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง และงานชิ้นนี้ยังได้เสนอว่าคุณธรรมในมุมมองของชาวดิจิทัลไทยประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ 1.ความมีเหตุมีผล 2.นำไปใช้ได้จริง 3.มีความยืดหยุ่นหลากหลาย 4.ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกที่เพิ่มมากขึ้น 5.เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

     จากการศึกษาทั้ง 2 ชิ้นนี้ทำให้เห็นโจทย์ที่ท้าทายของสังคมไทยว่าจะอยู่กันท่ามกลางความหมายที่หลากหลายของคุณธรรม ที่มาจากมุมมองของคนแต่ละช่วงวัยอย่างไร และนี่ยังไม่นับรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นที่มีอีกมากมายในสังคม เช่น เพศภาวะ ชาติพันธุ์ สถานภาพทางเศรษฐกิจ

 

     สังคมไทย (รวมทั้งสังคมโลก) จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดที่ทำให้คนที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันให้ได้ ซึ่งในหนังสือเรื่อง พวกฉัน พวกมัน พวกเรา (Moral Tribes) ที่เขียนโดยโจชัว กรีน (Joshua D. Greene) เสนอว่าโลกในปัจจุบันนั้นต้องการแนวคิดที่ทำให้กลุ่มต่างๆ ที่มีความขัดแย้งทางจริยธรรมอยู่ร่วมกันได้และเจริญก้าวหน้า อีกนัยหนึ่งคือต้องการ “อภิจริยธรรม” หรือระบบจริยธรรมที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ซึ่งมีอุดมคติทางจริยธรรมต่างกัน เหมือนที่จริยธรรมสามัญเบื้องต้นแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแตกต่างกันไป (หน้า 46-47)

 

     คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าอะไรคืออภิจริยธรรมของสังคม (ไม่ว่าจะสังคมไทยหรือสังคมโลก) แต่จุดเริ่มสำคัญที่จะเดินไปในเส้นทางนี้คือการกำหนดเป้าหมายร่วมกันให้ได้ก่อน ว่าจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ซึ่งถ้ามีการกำหนดเป้าหมายแบบนี้ได้เมื่อไร การเดินต่อไปสู่เส้นทางอภิจริยธรรมจึงจะมีความเป็นไปได้

 

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat



 คัดลอกจาก : https://www.matichon.co.th/article/news_2491412

ค้นหาหนังสือ

แนะนำหนังสือ

การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา

แนวทางการส่งเสริมองค์กรคุณธรรม

Think hack That's Great! แฮกไอเดีย แก้ปัญหาตรงใจ

สรุปเวทีรายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566 หัวข้อ “Morality in Brittle Society คุณธรรมในโลกทีเปราะบาง”

รายงานฉบับสมบูรณ์ การดำเนินงานจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ปี 2566

Infographic รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566

องค์ความรู้ มององค์กรผ่าน BOMC เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม

สตาร์ทอัพ กับการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม

องค์ความรู้ รูปแบบพฤติกรรมและกิจกรรมการทําเพื่อสังคมในบริบทของสังคมไทย

องค์ความรู้ Dialogue และ Empathy Dialogue = กระบวนการชวนคุยเพื่อทําความเข้าใจองค์กร

สื่อสารอย่างเข้าใจ ทำอะไรก็สำเร็จ : องค์ความรู้ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ ระหว่างคนต่างรุ่นในองค์กร

ผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565-2566 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิตของคนไทย 3 ช่วงวัย

คุณธรรมกับโลกยุคโกลาหล : รายงานสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 = Moral with the age of chaos

รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรม

รายงานการวิจัยเรื่อง การสำรวจสถานการณ์ทุนชีวิตคนไทย (Life Assets) ปี 2565

สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2565 และเสวนาวิชาการ “อยู่อย่างไรให้รอด ในโลกที่เปราะบางและท้าทาย”

แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

สรุปสาระสำคัญแผนปฏิบัติการฯคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

แท้จริงแล้วการพึ่งพากันทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณธรรมที่คุณสัมผัสได้ = Moral Development with Honey Bee Model