คำถามหนึ่งที่พบในงานส่งเสริมคุณธรรม คือ ควรมีการส่งเสริมคุณธรรมในหน่วย (Unit) ใดบ้าง ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างปัจเจกบุคคล และขยายมาเป็นครอบครัว องค์กร ชุมชน สังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างเชื่อมโยงกันบนฐานของความสัมพันธ์ที่หลากหลายและซับซ้อน

          ท่ามกลางชุดความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลาย “องค์กร” เป็นชุดความสัมพันธ์หนึ่งที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม โดยอยู่บนฐานคิดที่ว่าการส่งเสริมคุณธรรมในองค์กรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรในภาพรวม ซึ่งไม่ต้องแยกเรื่องคุณธรรมออกมาเป็นการเฉพาะ

          มาตรฐานด้านคุณธรรมและกระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม คือ ชุดเครื่องมือและกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมในระดับองค์กรที่ศูนย์คุณธรรมอยู่ระหว่างการพัฒนา โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้ออกแบบแนวคิดการพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมให้เน้นการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Positive motivation) และมีความยืดหยุ่น มาตรฐานด้านคุณธรรมจึงมีลักษณะเป็นแนวทาง (Guideline) เช่นเดียวกันกับงานพัฒนากระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรมที่เน้นพลังบวกและเป็นการเสริมพลัง (Empower)

          งานพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม มาถึงขั้นตอนที่องค์กรนำร่องจะนำแนวทางไปสร้างและพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม และกำหนดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมตามบริบทขององค์กร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2564

สำหรับงานพัฒนากระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรมเริ่มดำเนินการในปีนี้ด้วยการประชุมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านกระบวนการรับรอง การพัฒนาองค์กรคุณธรรม และการพัฒนาในมิติจิตวิญญาณ เพื่อนำแนวคิดและข้อเสนอแนะจากการแลกเปลี่ยนมาพัฒนางาน โดยจัดประชุมไป แล้ว 2 ครั้ง มี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เป็นคนชวนคิดชวนคุย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

          ประชุมครั้งที่ 1 วันที่ 11 มกราคม 2564 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแลกเปลี่ยนคือ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ยกตัวอย่างเกณฑ์การให้รางวัล SHA Award (Spiritual Healthcare Award: รางวัลสถานพยาบาลที่บูรณาการมิติจิตวิญญาณในการพัฒนาคุณภาพ เป็นการรับรองการพัฒนาด้านจิตวิญญาณของคนในโรงพยาบาล เริ่มจากวิธีคิดของคนในโรงพยาบาลที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรไปเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ มีการกำหนดเกณฑ์ กระบวนการเข้าไปเรียนรู้ ที่มีลักษณะคล้ายกับการสร้างองค์กรคุณธรรม และอาจารย์จิรุตม์ยังได้ให้ข้อสังเกตว่า งานเรื่องจิตวิญญาณหรือเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องเชิงบวก หากทำให้เป็น Mechanism (กลไก) มากเกินไปจะไม่สามารถทำงานได้จริง และผลที่ได้จะได้เพียงเอกสาร จะไม่ได้ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของคน ด้วยเหตุนี้กรอบแนวคิดของการส่งเสริมคุณธรรมควรเน้นที่ความเจริญงอกงาม คุณธรรมสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆ เป็นกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Change process) ไปสู่องค์กรที่มีคุณธรรม

      ประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 28 มกราคม 2564 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแลกเปลี่ยน คือ นพ.สวรรค์ ขวัญใจพานิช อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี นพ.วิศิษฎ์ อภิสิทธิ์วิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมูลนาก จ.พิจิตร และ รศ.ดร.ลือชัย  ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

      นพ.สวรรค์ กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานเรื่องโรงพยาบาลคุณธรรมว่า โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในช่วงแรกที่เริ่มมีการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) โรงพยาบาลอื่นเริ่มทำกันไปหมดแล้ว ส่วนโรงพยาบาลชลบุรียังไม่กล้าเริ่ม เพราะความไม่เข้าใจในระบบ ได้มาเริ่มงาน HA ใน ปี 2549 จนในปัจจุบันโรงพยาบาลได้รับมาตรฐานการรักษาระดับสากลจากสถาบัน JCI ซึ่งเป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข จนมาทำการรับรองขั้นก้าวหน้า (Advanced HA) โดยคิดว่าปัจจัยความสำเร็จ คือความเข้าใจที่ว่าระบบคุณภาพคือระบบคุณธรรม ที่ไม่ใช่การทำงานเพื่อรองรับการตรวจประเมิน เป้าหมายของทุกโรงพยาบาลคล้ายกัน คือในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งโรงพยาบาลจะไม่แยกคุณภาพและคุณธรรมออกจากกัน ถ้าโรงพยาบาลไม่มีคุณภาพก็แสดงว่าโรงพยาบาลทำงานอย่างไม่มีคุณธรรม  

โรงพยาบาลชลบุรีเริ่มเรียนรู้จากโรงเรียนคุณธรรม และมาต่อยอดงานโรงพยาบาลคุณธรรม โดย           

      1. เปลี่ยนอัตลักษณ์ให้เป็นพฤติกรรมตามที่แต่ละกลุ่มงานกำหนดเอง เช่น หน่วยงานรักษาความปลอดภัย กำหนดพฤติกรรม คุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ของ รปภ. ที่อยากเห็น 

     2. สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เรื่องคุณภาพ เรื่องคุณธรรมทำได้ทุกวัน โดยไม่ต้องมีใครมาตรวจ พยายามหากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าจะดัดแปลงได้ออกมาในลักษณะง่ายๆ เช่น กิจกรรมเรื่องเล่าคุณธรรม จัดกิจกรรมส่งเสริมเรื่องความดีในองค์กร จากจุดเล็กๆ กลายเป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ ในโรงพยาบาล โดยผลที่เกิดขึ้น คือสามารถลดข้อร้องเรียนไปได้มาก เกิดเป็นเครือข่าย และประชาชนมองโรงพยาบาลอย่างเป็นมิตร

          นพ.วิศิษฎ์ กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานโรงพยาบาลคุณธรรมของโรงพยาบาลบางมูลนากว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดยมีแรงบันดาลใจมาจากโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม การไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลชลบุรี และมีศูนย์คุณธรรมเป็นคณะวิทยากรให้ความรู้ การดำเนินงานเน้นแนวคิดกระบวนการภายในสู่ภายนอก (Inside out) มากำหนดคุณค่าร่วม (Core value) ซึ่งเป็นการร่วมกันหาคุณค่ากันเองในโรงพยาบาล ที่เริ่มจากการประชุมร่วมกันเพื่อหาจุดอ่อน จุดแข็ง และแปลงเป็นหลักคุณธรรมที่เป็นรูปธรรม เปลี่ยนรูปแบบการให้รางวัลมาเป็นการสร้างคุณค่าในตัวตน สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนัก โดยให้แต่ละบุคคลได้คิด วิเคราะห์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

          รศ.ดร.ลือชัย ร่วมแลกเปลี่ยนว่า จากประสบการณ์ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง มีฐานคิด คือการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรและอยากให้เกิดเป็นความยั่งยืน โดยอาศัยการเคลื่อนสังคมด้วยการแปลง(Transform) องค์กร โดยค่อยๆ หล่อหลอมให้เกิดการเคลื่อน ให้คนที่เกี่ยวข้องทุกระดับมาเข้าร่วม ไปสู่การเติบโตที่สูงขึ้น เป็นการเติบโต เรียนรู้ ซึ่งการเคลื่อนจากคุณภาพภายในจะดูจากภายนอกทั้งหมดไม่ได้ กระบวนการนี้พยายามทำให้เกิดคุณธรรมจากภายใน ซึ่งถ้าใช้กระบวนการขับเคลื่อนด้วยการประเมินจะมีกับดัก คือมีการวัดและตัดสิน แต่การพัฒนาสังคมคุณธรรมเป็นกระบวนการทางปัญญา ช่วยให้เราเจริญขึ้น ซึ่งต้องก้าวข้ามกับดักนี้ให้ได้  โดยต้องอาศัยงานเชิงคุณภาพให้คนในสังคมเห็น ว่าทำไมเราต้องเคลื่อนไปสู่สังคมคุณธรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญ โดยอาจนำกระบวนการประเมินเพื่อพัฒนา (Developmental Evaluation) มาใช้ วิธีแก้ปัญหาคือ ต้องก้าวข้ามความรู้แบบโลกๆ ที่ขาดมิติภายใน กลับมาหาคุณธรรม โดยทำงานกับความคิด (Mindset) การจัดการกับภายใน ทำให้มีความสามารถในการเป็นผู้ให้ ทำงานอยู่กับสังคมที่ยากๆได้ และการมีกัลยาณมิตรหนุนเสริม พื้นที่โชว์ แชร์ เชื่อม โดยบทบาทของกระบวนการรับรองคือการเป็นเครื่องมือเคลื่อนสิ่งเหล่านี้

          รศ.นพ.สุริยเดว สรุปแนวทางการพัฒนากระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรมที่จะดำเนินการต่อไปต้องมีความยืดหยุ่น (Flexible) สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกลุ่มเป้าหมาย (Customize) มีแนวปฏิบัติ (Guideline) และเน้นเชิงบวก (Positive) เพราะต้องการเสริมพลัง (Empowerment) โดยทำให้ เข้าถึงง่าย สำเร็จง่าย (Easy to access, Easy to success) ขับเคลื่อนจากภายใน (Inner drive) จนออกมาจนเป็นพฤตินิสัย

          การประชุมแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นทั้งการบอกเล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาองค์กรคุณธรรมที่ผ่านมาของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลบางมูลนาก และประสบการณ์งานกระบวนการรับรองของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งประสบการณ์ในการทำงานด้านสังคมและการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ มีจุดร่วมคือ การพัฒนาองค์กรนั้นมีเรื่องคุณธรรมเชื่อมร้อยอยู่ในระบบขององค์กรทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ แนวทางการพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมและกระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม จึงเป็นเครื่องมือและกระบวนการที่สนับสนุนการพัฒนาองค์กรคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับพฤติกรรมของคนในองค์กรไปจนถึงภาพรวมขององค์กร โดยไม่แยกเรื่องคุณธรรมออกจากการพัฒนาองค์กรในมิติอื่น



คอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564

ค้นหาหนังสือ

แนะนำหนังสือ

การส่งเสริมคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา

แนวทางการส่งเสริมองค์กรคุณธรรม

Think hack That's Great! แฮกไอเดีย แก้ปัญหาตรงใจ

สรุปเวทีรายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566 หัวข้อ “Morality in Brittle Society คุณธรรมในโลกทีเปราะบาง”

รายงานฉบับสมบูรณ์ การดำเนินงานจัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ปี 2566

Infographic รายงานสถานการณ์คุณธรรม ปี 2566

องค์ความรู้ มององค์กรผ่าน BOMC เพื่อการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรคุณธรรม

สตาร์ทอัพ กับการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม

องค์ความรู้ รูปแบบพฤติกรรมและกิจกรรมการทําเพื่อสังคมในบริบทของสังคมไทย

องค์ความรู้ Dialogue และ Empathy Dialogue = กระบวนการชวนคุยเพื่อทําความเข้าใจองค์กร

สื่อสารอย่างเข้าใจ ทำอะไรก็สำเร็จ : องค์ความรู้ การสื่อสารด้วยความเข้าใจ ระหว่างคนต่างรุ่นในองค์กร

ผลสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565-2566 ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิตของคนไทย 3 ช่วงวัย

คุณธรรมกับโลกยุคโกลาหล : รายงานสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 = Moral with the age of chaos

รายงานการวิจัยเรื่อง การพัฒนาและสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรม

รายงานการวิจัยเรื่อง การสำรวจสถานการณ์ทุนชีวิตคนไทย (Life Assets) ปี 2565

สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย ปี 2565 และเสวนาวิชาการ “อยู่อย่างไรให้รอด ในโลกที่เปราะบางและท้าทาย”

แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

สรุปสาระสำคัญแผนปฏิบัติการฯคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570)

แท้จริงแล้วการพึ่งพากันทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น

คุณธรรมที่คุณสัมผัสได้ = Moral Development with Honey Bee Model