ภป ลดถุงไฟป่าโควิดสังคมไทย 1024x500

 

      

ย้อนกลับไปที่ช่วงต้นปี 2563 ขณะที่ทั่วโลกกำลังเริ่มต้นเข้าสู่ปีใหม่ ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังเผชิญกับ “โรคประหลาด” เป็นอาการ "ปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ" โดยการระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นที่ตลาดค้าสัตว์ป่าเมืองอู่ฮั่นหรือตลาดขายอาหารทะเลสด South China Seaboard หลังจากนั้นเกิดการแพร่ระบาดกระจายไปในหลายพื้นที่ ถือเป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และนับตั้งแต่จีนประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมื่อธันวาคม 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยจึงเริ่มคัดกรองผู้โดยสารเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่น และเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือศูนย์อีโอซี (EOC) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีการตรวจพบผู้ป่วยหญิงจากเมืองอู่ฮั่น สัญชาติจีน ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยคนแรก เมื่อ 12 มกราคม 2563 ต่อมา 31 มกราคม 2563 ชายไทยวัย 50 ปี ซึ่งขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ได้รับผลตรวจว่าติดเชื้อ ถือว่าเป็นคนไทยรายแรกที่ติดเชื้อ หลังจากนั้น มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แต่เป็นจำนวนน้อย และอยู่ในวงจำกัด จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยมาก้าวกระโดด จาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ กลุ่มที่ 2 สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน อ้อมน้อย และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่เดินทางไปร่วมชุมนุมทางศาสนาที่มาเลเซีย ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การที่รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อ 26 มีนาคม 2563 และประกาศเคอร์ฟิวตามมาเมื่อ 3 เมษายน 2563 พร้อมกับมีมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชน ภายใต้นโยบาย อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

          ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำไมประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โรคระบาดนี้ให้อยู่ในวงจำกัดได้ โดยหลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว จนถึงวันที่เริ่มใช้มาตรการผ่อนปรน เราได้เห็นถึงพฤติกรรมของประชาชนหลายอย่าง และจากการทำงานของหลายหน่วยงาน ที่พยายามต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตินี้

เริ่มจากประชาชนให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามนโยบาย ร่วมใจกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ด้วยการทำงานที่บ้าน เพื่อลดโอกาสได้รับและแพร่เชื้อ ดารา นักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงจากวงการต่างๆ ร่วมประชาสัมพันธ์การอยู่บ้าน ช่วยชาติ ทุกคนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วยหลักปฏิบัติง่าย ๆ เช่น งดการรวมตัว ประชุม ชุมนุม ปรับตัวไปใช้การสื่อสารออนไลน์ ไม่เข้าใกล้กันในระยะประชิด เว้นระยะห่าง 2 เมตร เลี่ยงการสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด การอยู่บ้านจึงมีความหมายใหม่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในวิธีการช่วยชาติ

       ส่วนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในทุกระดับ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ทางการเเพทย์ ได้มีการเฝ้าระวัง ทั้งในชุมชนเเละสถานพยาบาล มีทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่ จำนวนกว่า 1,000 ทีม ที่มีความพร้อมในการลงพื้นที่สอบสวนโรค ทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี รวมไปถึงการสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชนผ่านเครือข่ายสื่อสาธารณะในหลายช่องทางที่ชัดเจน สม่ำเสมอเเละเป็นทิศทางเดียวกัน พร้อมกับการสำรวจพฤติกรรม เเละทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อนำไปพัฒนามาตรการเเละปรับการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

       ความร่วมมือของคนในสังคมไทยและความอุตสาหะของบุคคลากรทางการเแพทย์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โรคระบาดไม่รุนแรง ซึ่งตลอดเกือบ 7 เดือนที่มีการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการควบคุมโรคไม่ให้ระบาดในวงกว้าง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จนสำนักข่าว Bloomberg จัดอันดับให้ไทยจัดการโควิด-19 ได้ดีที่สุด เป็นอันดับ 4 ของโลก และสำนักข่าว CNN กล่าวชมเชยประเทศไทยว่าเป็น 1 ใน 4 ประเทศ (ร่วมกับฟินแลนด์ กรีซ นิวซีแลนด์) ที่ผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการดูแล เอาใจใส่ และบริหารจัดการได้ผลดีมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาชื่นชมประเทศไทยที่สามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี โดยได้มาถ่ายทำและผลิตวิดีโอ “แบ่งปันประสบการณ์โควิด 19 และมุมมองการตอบสนองของประเทศไทย” ซึ่งเป็นคลิปสารคดีเกี่ยวกับความสำเร็จของไทยในการตอบสนองต่อโรคโควิด 19 และการป้องกันควบคุมโรค เพื่อถ่ายทอดและแบ่งปันประสบการณ์แก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก รวมทั้งGlobal COVID-19 Index (GCI) จัดให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 การฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จาก 184 ประเทศทั่วโลก

          ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ว่า หากประชาชนยังมีวินัย หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากาก และรักษาระยะห่าง ให้ความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอ และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกันอย่างเต็มที่แบบนี้ จะทำให้เราสามารถสู้กับโรคระบาดนี้ได้ ถึงแม้จะมีข่าวการระบาดระลอก 2 เช่น เหตุการณ์ตรวจพบเชื้อไวรัสจากคนต่างชาติที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นแบบทดสอบที่ดี และสะท้อนถึงความสามารถของคนไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอก 2  

       สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในอนาคตของไทย ยังไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าคนไทยยังคงยึดหลักปฏิบัติเดิมเหมือนที่เคยทำมา การ์ดไม่ตก เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะสามารถ Fight กับโควิด-19 นี้ได้เหมือนที่เคยเป็นมา


 

ภูริชยา ภูวญาณ

ข้อมูลจากระบบรายงานข่าวสถานการณ์คุณธรรม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)