“คุณธรรม” เป็นคำที่สร้างการถกเถียงมาตลอด ตั้งแต่นิยามความหมาย การเลือกประเด็นคุณธรรมที่ควรส่งเสริม ไปจนถึงการวัดผลความเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณธรรมในสังคม แต่การถกเถียงด้วยกระบวนการแล้วไม่ได้เป็นสิ่งที่สร้างปัญหา ในทางกลับกันการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มาจากมุมมองที่แตกต่าง โดยพร้อมรับฟัง เพื่อเข้าใจ มองหาจุดร่วม และขับเคลื่อนงานไปด้วยกันเป็นเส้นทางที่สร้างสรรค์และเป็นทางออกของสังคมมากกว่า

 

     ปีนี้ (2563) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคุณธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผลการศึกษาพบว่า การรับรู้ด้านคุณธรรมในภาพรวม 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ ซึ่งเป็นประเด็นคุณธรรมที่มีการรณรงค์ในระดับนโยบาย กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้อยู่ในระดับขั้นการให้เหตุผลเชิงจริยธรรมของโคลเบิร์ก ระดับขั้นที่ 5 คือ กระทำตามข้อตกลงของสังคม โดยเป็นการแสดงพฤติกรรมปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับและยึดถือ ซึ่งเป็นการคำนึงถึงผู้อื่นหรือผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

 

     คุณธรรมที่มีการรับรู้มากเป็นลำดับที่ 1 คือ รับผิดชอบ จำนวน 99 คน คิดเป็นร้อยละ 47.1 ลำดับที่ 2 คือ พอเพียง จำนวน 94 คน คิดเป็นร้อยละ 44.8 ลำดับที่ 3 จิตสาธารณะ จำนวน 86 คน คิดเป็นร้อยละ 41.0 ลำดับที่ 4 วินัย จำนวน 85 คน คิดเป็นร้อยละ 40.5 และลำดับที่ 5 สุจริต จำนวน 78 คน คิดเป็นร้อยละ 37.1

 

     การรับรู้ด้านคุณธรรมรายด้านตามช่วงวัย เมื่อวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยการรับรู้ด้านคุณธรรมรายด้าน ตามช่วงวัย 4 ช่วงวัย คือ 1) Baby Boomer (อายุระหว่าง 55-73 ปี) 2) Generation X (อายุระหว่าง 39-54 ปี) 3) Generation Y (อายุระหว่าง 23-38 ปี) 4) Generation Z (อายุระหว่าง 13-22 ปี) พบว่า Baby Boomer เป็นกลุ่มที่มีการรับรู้ด้านคุณธรรมสูงเป็นลำดับที่ 1 ใน 3 ประเด็นคุณธรรม คือ พอเพียง สุจริต จิตสาธารณะ Generation X มีการรับรู้ด้านคุณธรรมสูงเป็นลำดับที่ 1 ใน 2 ประเด็นคุณธรรม คือ วินัย และรับผิดชอบ
 

     ขณะที่ Generation Y และ Generation Z มีการรับรู้ด้านคุณธรรมทั้ง 5 ประเด็นอยู่ในระดับ 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งประเด็นการรับรู้ด้านคุณธรรมของ Generation Y และ Generation Z นี้มีความเชื่อมโยงกับการจัดกระบวนการกลุ่มของคณะผู้วิจัย โดยในช่วงที่ดำเนินการนั้นมีการตั้งคำถามจากผู้เข้าร่วมใน 2 ช่วงวัยนี้ค่อนข้างมาก ตั้งแต่การตั้งคำถามว่าทำไมต้องเลือกคุณธรรม 5 ประเด็นนี้มาจัดกระบวนการ ไปจนถึงสามารถนิยามคุณธรรมในแบบที่ต่างจากที่มีการกำหนดมาได้หรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคุณธรรม 5 ประเด็นตั้งต้น อาจเชื่อมโยงกับชุดประสบการณ์ของคนบางช่วงวัย เช่น Baby Boomer และ Generation X ได้ดี แต่อาจไม่เชื่อมโยงกับชุดประสบการณ์ของ Generation Y และ Generation Z มากนัก

 

     ผลจากการศึกษานี้ทำให้ทีมวิจัยได้เสนอว่า การพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมและกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมที่จะดำเนินการต่อไป ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องช่วงวัยว่าประเด็นคุณธรรมใดสามารถเชื่อมโยงกับชุดประสบการณ์ของคนในวัยใด และข้อมูลชุดนี้เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีต้นทุนความรู้ด้านคุณธรรมมากพอสมควร ซึ่งโจทย์ที่ท้าทายต่อไป คือจะเปิดพื้นที่ให้มีการส่งเสริมคุณธรรมในประเด็นที่หลากหลาย และแปลงความรู้ความเข้าใจเรื่องคุณธรรมสู่การปฏิบัติเป็นพฤติกรรมได้อย่างไร

 

     นอกจากนั้น การส่งเสริมคุณธรรมก็ไม่ใช่การส่งเสริมในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่มีความจำเป็นต้องสร้างสังคมหรือระบบนิเวศที่เอื้อให้ “คนดีมีที่ยืน” โดยเฉพาะประเด็นคุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อย่างเช่น ประเด็นสุจริต ซึ่งผู้ที่ยืนกรานในจุดยืนนี้สะท้อนผ่านการจัดกระบวนการกลุ่มว่าต้องมีกลไก ระบบ หรือโครงสร้างที่เอื้อต่อการดำรงซึ่งคุณธรรมนี้จึงจะทำให้ปัจเจกสามารถยืนหยัดอยู่ได้

 

     ในประเด็นสุจริตนั้นเป็นที่น่าสนใจว่า จากการศึกษาของ จุลนี เทียนไทย และคณะ (2563) เรื่องการสร้างความเข้าใจคุณลักษณะ พฤติกรรมและทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งทำการศึกษาในกลุ่มคน Generation Y และ Generation Z พบว่า เป็นหลักคุณธรรมที่มีความสำคัญสำหรับการเป็นพลเมืองที่ดีของชาวดิจิทัลรุ่นใหม่เรื่องแรก จากทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1.ความสุจริต 2.ความกตัญญูกตเวที 3.หลักคุณธรรมสากล (Global mindset) และ 4.หลักคุณธรรมในโลกออนไลน์ที่จะต้องเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง และงานชิ้นนี้ยังได้เสนอว่าคุณธรรมในมุมมองของชาวดิจิทัลไทยประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ 1.ความมีเหตุมีผล 2.นำไปใช้ได้จริง 3.มีความยืดหยุ่นหลากหลาย 4.ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกที่เพิ่มมากขึ้น 5.เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

     จากการศึกษาทั้ง 2 ชิ้นนี้ทำให้เห็นโจทย์ที่ท้าทายของสังคมไทยว่าจะอยู่กันท่ามกลางความหมายที่หลากหลายของคุณธรรม ที่มาจากมุมมองของคนแต่ละช่วงวัยอย่างไร และนี่ยังไม่นับรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นที่มีอีกมากมายในสังคม เช่น เพศภาวะ ชาติพันธุ์ สถานภาพทางเศรษฐกิจ

 

     สังคมไทย (รวมทั้งสังคมโลก) จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดที่ทำให้คนที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันให้ได้ ซึ่งในหนังสือเรื่อง พวกฉัน พวกมัน พวกเรา (Moral Tribes) ที่เขียนโดยโจชัว กรีน (Joshua D. Greene) เสนอว่าโลกในปัจจุบันนั้นต้องการแนวคิดที่ทำให้กลุ่มต่างๆ ที่มีความขัดแย้งทางจริยธรรมอยู่ร่วมกันได้และเจริญก้าวหน้า อีกนัยหนึ่งคือต้องการ “อภิจริยธรรม” หรือระบบจริยธรรมที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ซึ่งมีอุดมคติทางจริยธรรมต่างกัน เหมือนที่จริยธรรมสามัญเบื้องต้นแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแตกต่างกันไป (หน้า 46-47)

 

     คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าอะไรคืออภิจริยธรรมของสังคม (ไม่ว่าจะสังคมไทยหรือสังคมโลก) แต่จุดเริ่มสำคัญที่จะเดินไปในเส้นทางนี้คือการกำหนดเป้าหมายร่วมกันให้ได้ก่อน ว่าจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ซึ่งถ้ามีการกำหนดเป้าหมายแบบนี้ได้เมื่อไร การเดินต่อไปสู่เส้นทางอภิจริยธรรมจึงจะมีความเป็นไปได้

 

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat



 คัดลอกจาก : https://www.matichon.co.th/article/news_2491412