20210725mapping4

 

          เดือนกรกฎาคม 2564 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้จัดงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม (แบบไฮบริด) ใน 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงราย (6-8 กรกฎาคม 2564) จังหวัดอุดรธานี (13-15 กรกฎาคม 2564) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (20-21 กรกฎาคม 2564) และจังหวัดสุราษฎร์ธานี          (23-24 กรกฎาคม 2564) โดยการจัดงานทั้ง 4 จังหวัด ทีมนักวิชาการของศูนย์คุณธรรมได้มีการสรุปประเด็นที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนคุณธรรมในพื้นที่ และข้อเสนอการขับเคลื่อนงานต่อในอนาคต ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

          เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เหลียวหลังแลหน้า การขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรม ทั้ง 4 จังหวัด วิเคราะห์กระบวนการส่งเสริมคุณธรรมว่า ให้ความสำคัญกับหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” คือ เกิดจากความต้องการของคนในพื้นที่ และเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม โดยกระบวนการที่นำมาใช้ขับเคลื่อนในระดับปฏิบัติการประกอบไปด้วย 1. การวิเคราะห์และนำต้นทุนเดิมในพื้นที่มาใช้ในการขับเคลื่อน เช่น ต้นทุนด้านวัฒนธรรม ต้นทุนด้านศาสนาความเชื่อ 2. การสร้างเครือข่ายบนพื้นฐานงานความรู้ 3. การพัฒนาวิทยากรและผู้นำการเปลี่ยนแปลง 4. การยกย่องเชิดชูบุคคล/องค์กร/ชุมชนที่ทำความดี สำหรับการขับเคลื่อนในระดับนโยบายให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนร่วมกันในระดับจังหวัด

 

          เวทีแลกเปลี่ยนของทั้ง 4 จังหวัด ยังได้เสนอภาพการขับเคลื่อนงานในอนาคตว่า ในระดับปฏิบัติการควรมีการดำเนินการดังนี้ 1. เปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายวัย 2. สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3. พัฒนากลไกการขับเคลื่อนของเครือข่าย ด้วยการสร้างกิจกรรมร่วมกันทั้งภายในเครือข่ายและข้ามเครือข่าย 4. มีกลไกการติดตามและการจัดการความรู้ เช่น การถอดบทเรียน 5. จัดให้มีกระบวนการยกย่องเชิดชู 6. มีการพัฒนาเครื่องมือ องค์ความรู้ และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น และในระดับนโยบาย ควรมีการบรรจุแผนการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมไว้ในยุทธศาสตร์จังหวัด โดยกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาในแต่ช่วงให้ชัดเจน รวมทั้งควรมีการทบทวนแผนเพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์สังคม

 

          สำหรับภาพรวมข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมใน 4 จังหวัด สามารถจัดกลุ่มเครือข่ายได้ 9 เครือข่าย โดยแต่ละเครือข่ายมีข้อเสนอดังนี้

          1. เครือข่ายเด็กและเยาวชน เสนอให้มีการบูรณาการการขับเคลื่อนของเครือข่ายเด็กและเยาวชนร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน

          2. เครือข่ายสถานศึกษา เสนอให้ยกระดับกิจกรรมของแต่ละสถานศึกษามานำเสนอในรูปแบบของเครือข่าย มีพื้นที่ “แชร์ โชว์ เชื่อม” และเน้นการพัฒนาเยาวชนให้เป็น “พลเมืองที่มีคุณธรรม” โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญ คือจิตอาสา

          3. เครือข่ายภาคประชาสังคม เนื่องจากเป็นเครือข่ายที่มีความหลากหลาย ข้อเสนอที่ให้ความสำคัญ จึงมองถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมว่าควรดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยประเด็นที่ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญ คือ การต่อต้านการทุจริต จิตอาสา เศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมคุณธรรมที่ให้ความสำคัญ คือ กลุ่มผู้นำชุมชน และกลุ่มเด็กและเยาวชน

          4. เครือข่ายชุมชน เสนอให้มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โมเดลต้นแบบ เพื่อนำไปใช้ในการขยายผลต่อไป

          5. เครือข่ายเกษตรกรรม เสนอให้มีการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนในการดำเนินงาน และเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน

          6. เครือข่ายภาครัฐ เสนอบทบาทของภาครัฐในการบูรณาการ การเชื่อมโยงเครือข่าย กระบวนการยกย่องเชิดชูบุคคลและองค์กรในมิติคุณธรรม

          7. เครือข่ายภาคธุรกิจ เสนอถึงการเพิ่มจำนวนองค์กรธุรกิจคุณธรรม การขยายเครือข่ายธุรกิจคุณธรรม การพัฒนาบุคลากรในเรื่องธุรกิจคุณธรรม และกระบวนการยกย่องเชิดชูบุคคลและองค์กรในมิติคุณธรรม

          8. เครือข่ายสื่อมวลชน เสนอทิศทางการทำงานด้านสื่อสารมวลชนที่อยู่บนพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม

          9. เครือข่ายศาสนา เสนอถึงการขับเคลื่อนที่เชื่อมร้อยแต่ละศาสนาเข้าด้วยกัน โดยมีบทบาททั้งในด้านการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน และการช่วยเหลือสังคม

 

          สิ่งที่น่าสังเกตจากข้อเสนอของเครือข่าย คือ การเสนอ “ข้ามข่าย” ไปที่ภาครัฐ จากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม โดยภาคธุรกิจเสนอว่า ภาครัฐควรพัฒนาผู้นำในระดับต่างๆให้เข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรม เพื่อให้เกิดการบูรณาการการขับเคลื่อนกับภาคธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ภาคประชาสังคมเสนอว่า ภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนภาคประชาสังคมให้ดำเนินงานด้านขับเคลื่อนคุณธรรม โดยการสนับสนุนควรมีการติดตามประเมินผลควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

          ข้อเสนอจากเวทีเสวนาและจากเครือข่ายทางสังคมของ 4 จังหวัดที่เกิดขึ้นจากงานสมัชชาคุณธรรมจังหวัดและตลาดนัดคุณธรรม แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเครือข่ายและงานความรู้ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงพื้นที่ โดยสิ่งที่เชื่อมโยงความเป็นเครือข่ายนั้น คือ ความรู้ ซึ่งเป็นความรู้ที่มาจากการทดลองปฏิบัติจริง และความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งภายในเครือข่ายด้วยกัน และข้ามเครือข่าย ซึ่งงานสมัชชาคุณธรรมจังหวัดได้ไปหนุนเสริมกระบวนการนี้ให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมพลังการขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงพื้นที่ให้เกิดความต่อเนื่อง


ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย

สำนักพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และสื่อสารสนเทศ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)