ค้นหาบทความ

 

            คำถามหนึ่งที่พบในงานส่งเสริมคุณธรรม คือ ควรมีการส่งเสริมคุณธรรมในหน่วย (Unit) ใดบ้าง ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างปัจเจกบุคคล และขยายมาเป็นครอบครัว องค์กร ชุมชน สังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างเชื่อมโยงกันบนฐานของความสัมพันธ์ที่หลากหลายและซับซ้อน

          ท่ามกลางชุดความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลาย “องค์กร” เป็นชุดความสัมพันธ์หนึ่งที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม โดยอยู่บนฐานคิดที่ว่าการส่งเสริมคุณธรรมในองค์กรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์กรในภาพรวม ซึ่งไม่ต้องแยกเรื่องคุณธรรมออกมาเป็นการเฉพาะ

          มาตรฐานด้านคุณธรรมและกระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม คือ ชุดเครื่องมือและกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมในระดับองค์กรที่ศูนย์คุณธรรมอยู่ระหว่างการพัฒนา โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้ออกแบบแนวคิดการพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมให้เน้นการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Positive motivation) และมีความยืดหยุ่น มาตรฐานด้านคุณธรรมจึงมีลักษณะเป็นแนวทาง (Guideline) เช่นเดียวกันกับงานพัฒนากระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรมที่เน้นพลังบวกและเป็นการเสริมพลัง (Empower)

          งานพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม มาถึงขั้นตอนที่องค์กรนำร่องจะนำแนวทางไปสร้างและพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม และกำหนดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมตามบริบทขององค์กร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2564

สำหรับงานพัฒนากระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรมเริ่มดำเนินการในปีนี้ด้วยการประชุมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านกระบวนการรับรอง การพัฒนาองค์กรคุณธรรม และการพัฒนาในมิติจิตวิญญาณ เพื่อนำแนวคิดและข้อเสนอแนะจากการแลกเปลี่ยนมาพัฒนางาน โดยจัดประชุมไป แล้ว 2 ครั้ง มี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม เป็นคนชวนคิดชวนคุย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

          ประชุมครั้งที่ 1 วันที่ 11 มกราคม 2564 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแลกเปลี่ยนคือ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ยกตัวอย่างเกณฑ์การให้รางวัล SHA Award (Spiritual Healthcare Award: รางวัลสถานพยาบาลที่บูรณาการมิติจิตวิญญาณในการพัฒนาคุณภาพ เป็นการรับรองการพัฒนาด้านจิตวิญญาณของคนในโรงพยาบาล เริ่มจากวิธีคิดของคนในโรงพยาบาลที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรไปเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ มีการกำหนดเกณฑ์ กระบวนการเข้าไปเรียนรู้ ที่มีลักษณะคล้ายกับการสร้างองค์กรคุณธรรม และอาจารย์จิรุตม์ยังได้ให้ข้อสังเกตว่า งานเรื่องจิตวิญญาณหรือเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องเชิงบวก หากทำให้เป็น Mechanism (กลไก) มากเกินไปจะไม่สามารถทำงานได้จริง และผลที่ได้จะได้เพียงเอกสาร จะไม่ได้ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของคน ด้วยเหตุนี้กรอบแนวคิดของการส่งเสริมคุณธรรมควรเน้นที่ความเจริญงอกงาม คุณธรรมสามารถเติบโตไปได้เรื่อยๆ เป็นกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Change process) ไปสู่องค์กรที่มีคุณธรรม

      ประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 28 มกราคม 2564 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแลกเปลี่ยน คือ นพ.สวรรค์ ขวัญใจพานิช อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี นพ.วิศิษฎ์ อภิสิทธิ์วิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมูลนาก จ.พิจิตร และ รศ.ดร.ลือชัย  ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

      นพ.สวรรค์ กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานเรื่องโรงพยาบาลคุณธรรมว่า โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในช่วงแรกที่เริ่มมีการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) โรงพยาบาลอื่นเริ่มทำกันไปหมดแล้ว ส่วนโรงพยาบาลชลบุรียังไม่กล้าเริ่ม เพราะความไม่เข้าใจในระบบ ได้มาเริ่มงาน HA ใน ปี 2549 จนในปัจจุบันโรงพยาบาลได้รับมาตรฐานการรักษาระดับสากลจากสถาบัน JCI ซึ่งเป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข จนมาทำการรับรองขั้นก้าวหน้า (Advanced HA) โดยคิดว่าปัจจัยความสำเร็จ คือความเข้าใจที่ว่าระบบคุณภาพคือระบบคุณธรรม ที่ไม่ใช่การทำงานเพื่อรองรับการตรวจประเมิน เป้าหมายของทุกโรงพยาบาลคล้ายกัน คือในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งโรงพยาบาลจะไม่แยกคุณภาพและคุณธรรมออกจากกัน ถ้าโรงพยาบาลไม่มีคุณภาพก็แสดงว่าโรงพยาบาลทำงานอย่างไม่มีคุณธรรม  

โรงพยาบาลชลบุรีเริ่มเรียนรู้จากโรงเรียนคุณธรรม และมาต่อยอดงานโรงพยาบาลคุณธรรม โดย           

      1. เปลี่ยนอัตลักษณ์ให้เป็นพฤติกรรมตามที่แต่ละกลุ่มงานกำหนดเอง เช่น หน่วยงานรักษาความปลอดภัย กำหนดพฤติกรรม คุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ของ รปภ. ที่อยากเห็น 

     2. สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เรื่องคุณภาพ เรื่องคุณธรรมทำได้ทุกวัน โดยไม่ต้องมีใครมาตรวจ พยายามหากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าจะดัดแปลงได้ออกมาในลักษณะง่ายๆ เช่น กิจกรรมเรื่องเล่าคุณธรรม จัดกิจกรรมส่งเสริมเรื่องความดีในองค์กร จากจุดเล็กๆ กลายเป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ ในโรงพยาบาล โดยผลที่เกิดขึ้น คือสามารถลดข้อร้องเรียนไปได้มาก เกิดเป็นเครือข่าย และประชาชนมองโรงพยาบาลอย่างเป็นมิตร

          นพ.วิศิษฎ์ กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานโรงพยาบาลคุณธรรมของโรงพยาบาลบางมูลนากว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดยมีแรงบันดาลใจมาจากโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม การไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลชลบุรี และมีศูนย์คุณธรรมเป็นคณะวิทยากรให้ความรู้ การดำเนินงานเน้นแนวคิดกระบวนการภายในสู่ภายนอก (Inside out) มากำหนดคุณค่าร่วม (Core value) ซึ่งเป็นการร่วมกันหาคุณค่ากันเองในโรงพยาบาล ที่เริ่มจากการประชุมร่วมกันเพื่อหาจุดอ่อน จุดแข็ง และแปลงเป็นหลักคุณธรรมที่เป็นรูปธรรม เปลี่ยนรูปแบบการให้รางวัลมาเป็นการสร้างคุณค่าในตัวตน สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนัก โดยให้แต่ละบุคคลได้คิด วิเคราะห์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

          รศ.ดร.ลือชัย ร่วมแลกเปลี่ยนว่า จากประสบการณ์ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง มีฐานคิด คือการสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรและอยากให้เกิดเป็นความยั่งยืน โดยอาศัยการเคลื่อนสังคมด้วยการแปลง(Transform) องค์กร โดยค่อยๆ หล่อหลอมให้เกิดการเคลื่อน ให้คนที่เกี่ยวข้องทุกระดับมาเข้าร่วม ไปสู่การเติบโตที่สูงขึ้น เป็นการเติบโต เรียนรู้ ซึ่งการเคลื่อนจากคุณภาพภายในจะดูจากภายนอกทั้งหมดไม่ได้ กระบวนการนี้พยายามทำให้เกิดคุณธรรมจากภายใน ซึ่งถ้าใช้กระบวนการขับเคลื่อนด้วยการประเมินจะมีกับดัก คือมีการวัดและตัดสิน แต่การพัฒนาสังคมคุณธรรมเป็นกระบวนการทางปัญญา ช่วยให้เราเจริญขึ้น ซึ่งต้องก้าวข้ามกับดักนี้ให้ได้  โดยต้องอาศัยงานเชิงคุณภาพให้คนในสังคมเห็น ว่าทำไมเราต้องเคลื่อนไปสู่สังคมคุณธรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญ โดยอาจนำกระบวนการประเมินเพื่อพัฒนา (Developmental Evaluation) มาใช้ วิธีแก้ปัญหาคือ ต้องก้าวข้ามความรู้แบบโลกๆ ที่ขาดมิติภายใน กลับมาหาคุณธรรม โดยทำงานกับความคิด (Mindset) การจัดการกับภายใน ทำให้มีความสามารถในการเป็นผู้ให้ ทำงานอยู่กับสังคมที่ยากๆได้ และการมีกัลยาณมิตรหนุนเสริม พื้นที่โชว์ แชร์ เชื่อม โดยบทบาทของกระบวนการรับรองคือการเป็นเครื่องมือเคลื่อนสิ่งเหล่านี้

          รศ.นพ.สุริยเดว สรุปแนวทางการพัฒนากระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรมที่จะดำเนินการต่อไปต้องมีความยืดหยุ่น (Flexible) สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกลุ่มเป้าหมาย (Customize) มีแนวปฏิบัติ (Guideline) และเน้นเชิงบวก (Positive) เพราะต้องการเสริมพลัง (Empowerment) โดยทำให้ เข้าถึงง่าย สำเร็จง่าย (Easy to access, Easy to success) ขับเคลื่อนจากภายใน (Inner drive) จนออกมาจนเป็นพฤตินิสัย

          การประชุมแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นทั้งการบอกเล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาองค์กรคุณธรรมที่ผ่านมาของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลบางมูลนาก และประสบการณ์งานกระบวนการรับรองของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งประสบการณ์ในการทำงานด้านสังคมและการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ มีจุดร่วมคือ การพัฒนาองค์กรนั้นมีเรื่องคุณธรรมเชื่อมร้อยอยู่ในระบบขององค์กรทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ แนวทางการพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมและกระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม จึงเป็นเครื่องมือและกระบวนการที่สนับสนุนการพัฒนาองค์กรคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับพฤติกรรมของคนในองค์กรไปจนถึงภาพรวมขององค์กร โดยไม่แยกเรื่องคุณธรรมออกจากการพัฒนาองค์กรในมิติอื่น



คอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564

ค้นหาหนังสือ