ปัจจุบัน เมื่อพูดถึงองค์กรคุณธรรม หลายคนอาจมีคำถามที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ถามถึงคุณลักษณะ บ้างก็ถามถึงมาตรฐานความเป็นองค์กรคุณธรรม บ้างก็อาจจะมีคำถามว่า คือ อะไร จะเป็นองค์กรคุณธรรมได้อย่างไร ปรากฏการณ์เช่นที่กล่าวมานี้ ไม่ได้เป็นความบังเอิญหรือสร้างสถานการณ์ แต่เป็นสิ่งที่สังคมไทย กำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในปัจจุบัน นับตั้งแต่ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งต้องประสบกับปัญหาทางสังคมมากมาย รวมถึงความแตกแยกทางสังคม ซึ่งค้นพบว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น ล้วนเกิดมาจากปัญหาวิกฤติคุณธรรมในสังคมไทยนั่นเอง ความพยายามที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้าน ไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้ หากไม่เกิดการปฏิรูปด้านคุณธรรม ของสังคมไทย ที่คนไทยต้องไม่สร้างปัญหาให้คนอื่นเดือดร้อน และทำแต่สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวม จึงจะนำไปสู่การปรับ แก้ไขหรือปฏิรูปด้านอื่น ๆ ตามมาได้
นับตั้งแต่รัฐบาล เห็นชอบแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๔ แล้วนั้น คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศขับเคลื่อนการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมอย่างน้อย ๓ ระดับ คือ ระดับกระทรวง ระดับจังหวัด และระดับองค์กร หน่วยงานภาคปฏิบัติอื่น ๆ ในสังคม ความสนใจในเรื่องการน้อมนำหลักคุณธรรม ๔ ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ของหน่วยงานต่าง ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น โดยหน่วยงานภาครัฐ มีความพยายามที่จะสร้างเสริมองค์กรต่างๆภายใต้การกำกับ ให้มุ่งสู่การพัฒนาเป็นองค์กรคุณธรรม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงพยาบาลคุณธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมโรงเรียนต่าง ๆ ให้เกิดเป็นโรงเรียนคุณธรรมกว่า ๓๐,๐๐๐ แห่ง ในภาคธุรกิจเอง ก็มีความพยายามในหลาย ๆ กลุ่ม ที่จะพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจที่ส่งเสริมคุณธรรมเหล่านี้ ล้วนแต่มีการพูดถึง องค์กรคุณธรรม ทั้งสิ้น
ดังนั้น คำว่าองค์กรคุณธรรม จึงเป็นที่กล่าวถึงกันมากในยุคนี้ เพราะเมื่อเข้าใจเจตนารมณ์ที่ชัดเจนแล้ว จะเห็นได้ว่า การเป็นองค์กรคุณธรรม จะเป็นการสร้างพื้นที่ความดี สร้างคนดี ให้สังคมดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลในปัจจุบัน และประชาชนชาวไทยก็ต้องการจะเห็นเช่นนั้น
ผู้เขียน : ยงจิรายุ อุปเสน งานนวัตกรรมองค์ความรู้เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม
ภาพโดย : จักราชัย ทองเพ็ชร์ งานสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงและภาพลักษณ์องค์กร