ค้นหาบทความ

     “การฟัง” เป็นทักษะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ในหนึ่งวันมีเรื่องราวต่างๆ ที่วิ่งผ่านทางหูจำนวนมาก เราต้องใช้กระบวนการทางสมองในการรับฟังเพื่อตีความ และแปลความเสียงที่ได้ยินมา การฟังมีหลายระดับด้วยกัน ตั้งแต่การได้ยิน ฟังตามปกติ หรือฟังเพื่อคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นชินและทำกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่การฟังอีกประเภทหนึ่งที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่เหมาะกับยุคสมัยนี้ คือ “การฟังที่เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น” หรือการรับฟังด้วยใจ


ฟังด้วยใจ ขยายความเป็นไปได้ใหม่ในสังคม

 

ธนัญธร เปรมใจชื่น นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ได้กล่าวถึงประเด็นการฟังด้วยใจ ไว้ว่า คนจำนวนมากชอบคิดว่าการฟังเป็นแค่การนั่งนิ่ง แต่การฟังด้วยหัวใจนั้นกลับแตกต่างจากการฟังทั่วๆไป เพราะมิใช่ฟังเพื่อจับประเด็น หรือโต้ตอบตามความเคยชิน แต่เป็นการฟังเพื่อความเข้าอกเข้าใจคนอื่น ซึ่งมีความสำคัญมากในชีวิตประจำวัน

 

“เมื่อคุณฟังอย่างลึกซึ้งจริงๆ คุณจะรู้ว่าโลกภายในระหว่างคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งมีบางอย่างเชื่อมโยงกันและเมื่อไหร่ที่คุณสามารถเข้าอกเข้าใจกันได้ คุณจะเริ่มเข้าใจคนข้างในตัวคุณเอง แล้วเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มเข้าใจตัวของคุณเอง ทุกอย่างจะง่ายขึ้นเยอะ”

 

นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันแล้ว การฟังยังช่วยทำให้เกิดการขยายพื้นที่ในสังคม เพราะความเข้าอกเข้าใจกัน มองเห็นปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ด้วยความไว้เนื้อเชื่อถือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ โดยเริ่มต้นจากในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ชุมชน และสังคม

 

“เราเริ่มทำอะไรบางอย่างได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ ต้องทำด้วยหัวใจ เพราะระบบการศึกษาจะสอนวิธีคิด แต่ไม่ได้สอนเรื่องจิตใจ ดูตัวอย่างในเฟซบุ๊คแค่ก็อบปี้ของคนอื่น แล้วมาโพสต์ในเฟซบุ๊คตัวเอง คนอื่นก็มองว่าคนนี้คิดดี บางทีคุณแค่พิมพ์คำสั้นๆ ความหมายดีๆ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ออกมาจากคุณ เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยเหตุผลดีๆ ปรัชญาดีๆ ที่คุณดึงจากผู้อื่นมาใช้ โดยการเข้าข้างพฤติกรรมของตัวเอง” 

ฟัง เพื่อเป็น “ยารักษาใจ”

 

การฟังด้วยใจนั้น นอกจากจะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจตนเองและผู้อื่นแล้ว ยังช่วยเยียวยารักษาจิตใจของผู้ป่วยจิตเวชได้ โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย คนเป็นทุกข์กันมาก โดยเฉพาะภาวะทุกข์ทางด้านจิตใจ เพราะถูกกระทำโดยความไม่รู้ตัว ในฐานะที่อาจารย์ธนัญธร เป็นนักจิตบำบัดและคนทำกระบวนการเพื่อสังคมและการเปลี่ยนแปลงจากด้านใน พบว่า วิธีที่จะฟื้นฟูคนป่วยได้นั้น คือการมีพื้นที่ความรักและความเข้าใจ

 

“ลึกๆ แล้วคนส่วนใหญ่ อยากถูกเข้าใจ ถูกเห็นอกเห็นใจ ถูกรับรู้ ยิ่งโดนกระทำหนักมาก ยิ่งอยากถูกเห็นอกเห็นใจ เรามีพื้นที่การตรวจสอบ แต่กลับไม่มีพื้นที่ของความรัก ความเข้าใจ”

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องสร้างพื้นที่ของความรักและความเข้าใจ โดยเริ่มจากกระบวนการต่างๆ การฟังอย่างลึกซึ้ง คือหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้คนฟังมองเห็นตัวเอง ได้ยินเสียงตัวเอง และได้ยินเสียงโลกรอบตัวด้วย


เรียนรู้ “ฟังด้วยหัวใจ” จากประสบการณ์ตรง

 

อาจารย์ธนัญธร กล่าวว่า สิ่งที่กระบวนการทำได้ดี คือ การสร้างแรงบันดาลใจในการอยากเปลี่ยน หรืออยากกระทำ อาจเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กๆ เช่น กลับไปฟังคนรักให้ดีขึ้น เข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ฯลฯ โดยมีร่องเดิมๆ ที่ทำซ้ำอยู่อย่างนั้น เป็นแรงเหวี่ยงภายในเหมือนการตั้งหลักใหม่

 

“คำที่ว่าพฤติกรรมจะเปลี่ยนได้จริง เป็นเรื่องของเขาว่าจะมีโอกาสเจอแรงเหวี่ยงไหม ตอนเรียนใหม่ก็อาจจะรู้สึกว่าดี เหมือนเป็นชิงช้า ถ้ามีคนแกว่งก็มีแรง เหมือนมีคนมาไกวชิงช้าให้เรา อีกสักพักก็จะเฉื่อยตามร่องที่คุ้นชิน แล้วก็หาแรงบันดาลใจใหม่ ยกเว้นคนบางคนที่มีแรงบันดาลใจ ชอบเรื่องนี้ สนใจเรื่องนี้มาก เป็นหมุดสุดท้ายที่มาตอกพอดีแล้วมันก็พลิก เกิดแรงบันดาลใจอยากสร้างเส้นทางใหม่ๆในชีวิต อยากกลับไปทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น เป็นแรงบันดาลใจในการอยากขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลง”


มาสร้างประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน

 

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกระบวนการ “ฟังด้วยใจขยายความเป็นไปได้ใหม่ในสังคม” สามารถเข้าร่วมสัมผัสประสบการณ์ตรงได้ที่งาน โครงการประชุมวิชาการ คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม “ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” วันที่ 26 กรกฎาคม 60 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ http://www.moralcenter.or.th/index.php/home/news/moralspace

 

หมดเขตวันที่ 15 กรกฎาคม 2560

 

 

 

 

ค้นหาหนังสือ