ค้นหาบทความ

01

 

          ในระยะหลายปีที่ผ่านมา องค์กรภาคเอกชนส่วนหนึ่ง ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเป็นองค์กรแห่งความสุข ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.  ซึ่งจะเน้นกิจกรรมสร้างสุข ๘ ประการ  ได้แก่  /  Happy Body (สุขภาพดี)  /  Happy Heart (น้ำใจงาม)  /  Happy Society (สังคมดี)  /  Happy Relax (ผ่อนคลาย)  /  Happy Brain (หาความรู้)  /  Happy Soul (ทางสงบ)  /  Happy Money (ปลอดหนี้)  /  และ Happy Family (ครอบครัวดี)   เป็นองค์กรที่เห็นคุณค่าในการพัฒนา “องค์กรสุขภาวะ”  ที่เน้นการสร้าง “คน” และ “องค์กร” ให้มีความสุข และยั่งยืน และส่งผลให้ผลประกอบการขององค์กรดีขึ้น   และมีความพยายามที่จะขยายผลอย่างต่อเนื่อง  โดยมีโครงการ Happy Heart to Happy Society ที่มูลนิธิหัวใจอาสา เข้าร่วมส่งเสริมการให้ ในมิติด้านคุณธรรม ในระหว่างปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙  เพื่อส่งเสริม “การให้” ในองค์กร  “การให้” ระหว่างพนักงาน  “การให้” ระหว่างพนักงานและองค์กร  และ “การให้” ของพนักงานและองค์กร ต่อสังคม   เพื่อสร้างให้เกิด “น้ำใจงาม (Happy Heart)”  และสร้างให้เกิด “สังคมดี (Happy Society)”  โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประมาณ  ๔๐๐  องค์กร  มีองค์กรต้นแบบการส่งเสริมเรื่องการให้ อาทิ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด, บริษัท วี.เพาเดอร์เทค จำกัด, บริษัทแม่น้ำ สแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน), ฯลฯ มีองค์กรที่สนใจขยายผล เช่น บริษัท สวนอุตสาหกรรมบางกระดี จำกัด,  บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน),บริษัท ไทยเมกิ จำกัด, บริษัท อินโฟเน็ท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยซันฟู้ด จำกัด, เป็นต้น

 

          ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๔  สสส.  ศูนย์คุณธรรม และมูลนิธิหัวใจอาสา ได้ประชุมร่วมกันสามฝ่ายพบว่า องค์กรภาคเอกชนในอดีตมุ่งเน้นการเป็น “องค์กรคนเก่ง (องค์กรประสิทธิภาพ)” มุ่งเป้าหมายองค์กร จากการมีผลประกอบการที่ดี  จนต่อมาได้พัฒนามาสู่ “องค์กรสร้างสุข (องค์กรสุขภาวะ)” มุ่งเป้าหมายที่คน และองค์กร มีความสุข และมีความยั่งยืน เพื่อส่งผลต่อผลประกอบการที่ดี อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนสำคัญที่ขาดหายไป ที่จะทำให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งความสุข ได้อย่างเกิดผลระยะยาว คือ การสร้างเสริมในส่วนของการเป็นผู้ให้  (Happy   Heart) และ จิตใจที่มีสุข  (Happy  Soul)  ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญกับการพัฒนาภายในตัวคน  และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม โดยตรง  หากมีการดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกัน ก็จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กร ให้เป็นไปในทางที่รัฐบาลกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ คือ คุณภาพของคนไทย ๔.๐ ที่จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ตอบโจทย์แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑  โดยที่ สสส. ก็เห็นความสำคัญในบทบาทของศูนย์คุณธรรม  ที่จะทำให้เกิดการหนุนเสริมการพัฒนาองค์กรคุณธรรม ในภาคธุรกิจเอกชน ยกระดับต่อยอดจากองค์กรสุขภาวะให้เข้มแข็งด้วยมิติด้านคุณธรรม ภายใต้เป้าหมายของแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น

 

          จากการประเมินร่วมกันสามฝ่าย เห็นว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่องค์กรต่างๆ เหล่านั้น ที่เป็นเครือข่ายองค์กรแห่งความสุข จะเข้าร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่การเป็น “องค์กรคุณธรรม”  ที่เน้นการสร้าง “คนดี” คือ มีความพอเพียง   มีวินัย  สุจริต  และจิตอาสา สร้าง “องค์กรคนดี”  ให้มีความภาคภูมิใจ  สามารถเสริมสร้างให้มีภาพลักษณ์ที่ดี มีคุณค่า  และสามารถหนุนเสริมการพัฒนา “องค์กรสุขภาวะ” Happy ทั้ง ๘ ประการ ให้มีความสำเร็จมากยิ่งขึ้น  ตลอดจนสามารถส่งผลให้ผลประกอบการขององค์กรดียิ่งขึ้น และมีความยั่งยืน  การเริ่มต้นนำร่องเพื่อพัฒนา “องค์กรคุณธรรม” กับเครือข่ายและองค์กรภาคเอกชน ที่ให้ความสนใจในการพัฒนา “คน” และ “องค์กร” ไปสู่ความยั่งยืน  และมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่องค์กรคุณธรรมได้  จะเป็นการเริ่มต้น ในการสร้างกระแสการขับเคลื่อนองค์กรภาคเอกชนอื่นๆ อย่างกว้างขวางต่อไปด้วย รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการใหม่ ( Start  Up  Thailand)  และธุรกิจขนาดย่อมหรือ SME  ในอนาคต 

 

          ยุทธศาสตร์สำคัญในการส่งเสริมคุณธรรม จึงต้องรณรงค์ส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ตระหนักในความรับผิดชอบ และมีบทบาทส่งเสริมคุณธรรมอย่างจริงจัง  เพื่อให้เป็น “องค์กรคุณธรรม” เป็นแหล่งสร้างคนดี เพื่อสังคมดี  เป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมไทย ๔.๐ คู่กับสังคมคุณธรรม  โดยใช้จุดแข็งของสสส.+ศูนย์คุณธรรม + มูลนิธิหัวใจอาสา   ร่วมกันขับเคลื่อนงาน

 

  • สสส. มีพันธกิจส่งเสริม “องค์กรสุขภาวะ” หรือ “Healthy Organization” หรือ “Happy Workplace” ที่มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การส่งเสริม Happy Heart (น้ำใจงาม) และการส่งเสริม Happy Soul (จิตใจที่มีสุข ) ซึ่งเป็นการสร้างเสริม “สุขภาพจิต (Spiritual Health)” ให้กับคนทำงานในองค์กร และการส่งเสริมคุณธรรม และองค์กรคุณธรรม ก็เป็นการสร้างเสริม “สุขภาพจิต (Spiritual Health)” ให้กับคนทำงานในองค์กรด้วย  โดย สสส. จะมีบทบาทสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนงานส่งเสริมองค์กรคุณธรรมภาคเอกชน ในเชิงนโยบายของโครงการฯ  ตลอดจนเชื่อมต่อการขับเคลื่อนงานโครงการฯ ไปยังภาคีเครือข่าย Happy Workplace
  • ศูนย์คุณธรรม ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการผลักดันนโยบายการขับเคลื่อนคุณธรรม โดยศูนย์คุณธรรมจะเน้นหนักการขับเคลื่อนงานส่งเสริมองค์กรคุณธรรมภาคเอกชน ในเชิงนโยบายของโครงการฯ ร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ต่างๆ และจะใช้ ยุทธศาสตร์ แนวทาง และองค์ความรู้ ของศูนย์คุณธรรม ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ของโครงการฯ
  • มูลนิธิหัวใจอาสา มีพันธกิจส่งเสริมการให้และการมีหัวใจอาสาในสังคม มีฐานการขับเคลื่อนงาน Happy Heart ที่เข้มแข็ง ทั้งมีภาคีเครือข่ายจำนวนมาก และมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนา “คน” และ “องค์กร” ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนหลายปี  โดยมูลนิธิฯ จะเน้นหนักการขับเคลื่อนงานส่งเสริมองค์กรคุณธรรมภาคเอกชน ที่เป็นรูปธรรมนำร่องในเชิงลึกของโครงการฯ

 

          โดยใช้จุดแข็งและศักยภาพของทั้ง 3 องค์กร มาร่วมกันขับเคลื่อนงานส่งเสริม “องค์กรคุณธรรมภาคเอกชน” ทั้งการสร้างรูปธรรมนำร่องในเชิงลึก และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในภาพกว้าง ก่อเกิดคำว่า องค์กรธุรกิจคุณธรรม ในระยะเวลาต่อมา

 

02

 

          “ เป้าหมายสำคัญของการทำเรื่องนี้ อยู่ที่การส่งเสริมให้องค์กรภาคเอกชน ตระหนักในความรับผิดชอบ และมีบทบาทเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม ที่เป็นแหล่งสร้างคนดี เพื่อสังคมดี   คือ เป็นองค์กรที่แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณธรรมในองค์กร  โดยมีการบริหารจัดการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล  มีการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในองค์กรมีคุณธรรม เป็นฐานในการดำเนินชีวิต ทั้งในที่ทำงาน ครอบครัว และชุมชน  และมีการรณรงค์และสนับสนุนการส่งเสริมคุณธรรมให้กับประชาชน ชุมชน และสังคมที่เกี่ยวข้อง”

 

          เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นหลังความร่วมมือกันสามฝ่ายในช่วงแรก ก็นำไปสู่ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ตามมาอีก ทั้งสภาหอการค้าไทย  PMAT  ศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่การค้นพบต้นแบบที่ดีงามขององค์กรภาคเอกชน ที่เป็นองค์กรที่ยืนหยัดในมิติด้านคุณธรรม ๓ ประการ คือ ส่งเสริมให้พนักงานในองค์กรเป็นคนดี  มีระบบการบริหารจัดการที่ดีเป็นธรรมาภิบาล และแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนร่วม จนนำมาสู่การถอดความสำเร็จเป็นชุดความรู้ต่างๆ  การพัฒนานักส่งเสริมคุณธรรมภาคเอกชนกว่า ๔๐๐ คน การค้นหานวตกรรมส่งเสริมคุณธรรมในภาคเอกชน การยกย่องชื่นชมองค์กร และการเชื่อมโยงกลุ่มบุคคลเพื่อขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายองค์กรธุรกิจคุณธรรม ในอนาคต

 

          นับเป็นก้าวแรก ของการขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจคุณธรรม ที่จะส่งต่อคุณค่าให้กับสังคมไทย และสร้างสรรค์โอกาสให้ภาคเอกชนที่ยืนหยัดในมิติด้านความดี ได้มีพื้นที่สำหรับภาคเอกชนเอง ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ครั้งที่ ๑๐ ที่ผ่านมา  ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจสามารถสมัครใจเข้าร่วมโครงการได้ โดยสมัครผ่านระบบ เพื่อขอรับคำปรึกษา การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ทางเฟสบุค “องค์กรธุรกิจคุณธรรม” หรือ ทางเว็ปไซท์ ในชื่อเดียวกันนี้

 

03

 

04

 

05

 

 

                                                                 

ค้นหาหนังสือ