ค้นหาบทความ

      เวลาประมาณ 03.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ประชาชนละแวกซอยกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงประชาชนบริเวณใกล้เคียง ต้องตกใจกับเสียงที่ดังสนั่นขึ้น พร้อมกับแรงอัดอย่างรุนแรงจากการระเบิด ที่ทำให้กระจกประตูและหน้าต่างเกิดความเสียหายในทันที ซึ่งในขณะนั้นประชาชนที่ได้ยินเสียงยังไม่ทราบในทันทีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเฟซบุ๊กเพจของกลุ่มกู้ภัยป่อเต็กตึ๊งจุด สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-สภ.บางแก้ว ได้รายงานข่าวการระเบิดว่าเกิดขึ้นที่โรงงาน บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 ซึ่งโรงงานเป็นคลังเก็บเม็ดพลาสติกเเละสารเคมี เเรงระเบิดทำให้โรงงาน บ้านเรือน โรงเเรม อะพาร์ตเมนท์ ในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ได้รับความเสียหายนับร้อยหลังคาเรือน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคนจากวัสดุที่พังลงมาจากแรงสั่นสะเทือน ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ดึงความสนใจของประชาชนไปจากเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ได้ จนขึ้นเทรนทวิตเตอร์อันดับ 1 #ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ซึ่งเวลาต่อมา นายอำเภอบางพลี ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร อพยพออกจากพื้นที่เนื่องจากกลัวว่าเพลิงจะลุกลาม และเกรงว่าเพลิงจะลุกลามไปติดถังสารเคมีในพื้นที่ใกล้เคียง การดับเพลิงครั้งนี้ค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนต้องใช้เวลามากกว่า 40 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง จนท้ายที่สุดเวลา 17.00 น. ของวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ได้ประกาศผ่อนปรนให้ประชาชนกลับเข้าที่พักได้ และเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกไฟคลอกได้รับบาดเจ็บ 3 นาย และเสียชีวิตอีก 1 นาย

 

      จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมต้องตั้งคำถามมากมายถึงที่ตั้งของโรงงานและแหล่งที่อยู่อาศัย ที่อยู่ใกล้กันขนาดนี้ได้อย่างไร แม้กระทั่งมีหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้โรงงาน ในระยะไม่ถึง 100 เมตร จนได้รับผลกระทบอย่างหนักหนา โดย นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าในประเทศไทยมีโรงงาน 2 แห่งที่ผลิตพลาสติกขึ้นรูป คือ โรงงานหมิงตี้ฯ และโรงงานไออาร์พีซี จังหวัดระยอง แต่โรงงานหมิงตี้ฯ ใช้เทคโนโลยีไต้หวัน ไม่มี EIA เพราะเกิดก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้ และเกิดก่อนผังเมืองจะมี ซึ่งทุกปีกระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินความปลอดภัย แต่ปีนี้มีการระบาดของโควิด-19 จึงกำหนดให้โรงงานทำรายงานส่งเอง ในขณะที่โรงงานไออาร์พีซี ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมัน มี EIA ควบคุม มีระบบป้องกันทันสมัย ห่างไกลชุมชน แต่โรงงานหมิงตี้ฯ อยู่ท่ามกลางชุมชน และเทคโนโลยีเก่า ๆ ตกมาตรการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ไม่มีแม้กระทั่งแผนซ้อมอพยพในชุมชน

 

      ถ้าหากย้อนดูการก่อตั้งของโรงงานนั้น โรงงานหมิงตี้ฯ เริ่มยื่นใบขออนุญาต ตั้งแต่ ปี 2532 และเริ่มดำเนินกิจการ ตั้งแต่ ปี 2534 และถ้าเทียบจากรูปถ่ายผังเมือง เมื่อ 30 ปีก่อน ทำให้เห็นว่าโรงงานได้ตั้งอยู่ห่างใกล้จากแหล่งชุมชน และตั้งก่อนที่จะมีกฎหมายควบคุมต่าง ๆ เช่น

 

 พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 โดยโรงงานหมิงตี้ฯ จะถูกกำหนดเป็นโรงงาน ประเภท 3 คือ เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อน รำคาญ หรือเหตุอันตรายต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ คือ ห้ามใกล้บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัยอาคารชุดพักอาศัยและบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย และห้ามตั้งภายในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน

 

พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 ให้โรงงานต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA แต่โรงงานหมิงตี้ไม่ต้องจัดทำเพราะโรงงานเกิดก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้ แต่จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยหรือ ESA ในช่วงการขออนุญาตตั้งโรงงานเท่านั้น

 

      กฎกระทรวงผังเมืองรวมสมุทรปราการ ปี 2544 ได้กำหนดให้พื้นที่บริเวณซอยกิ่งแก้ว และใกล้เคียงเป็น “พื้นที่สีม่วง” หรือเขตอุตสาหกรรม แต่แวดล้อมไปด้วย “พื้นที่สีแดง” หรือย่านพาณิชยกรรม ส่งผลให้บริเวณรอบ โรงงานหมิงตี้ฯ เริ่มมีบ้านเรือนประชาชนเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังจากนั้น เกิดเป็นชุมชนที่พักอาศัยขึ้นมาในภายหลัง โดยไม่มี “พื้นที่สีเขียว” ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือที่โล่ง เข้ามาคั่นระหว่างตัวโรงงานที่เป็นสถานที่เก็บสารเคมีอันตรายกับชุมชนแต่อย่างใด จนได้มีประกาศผังเมืองที่ลดระดับพื้นที่จากสีม่วง กลายเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดง ตามผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2557 ในปัจจุบันทำให้เห็นว่าในบริเวณที่ตั้งโรงงานคือเขตพื้นที่สีแดง คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ซึ่งไม่ควรมีโรงงานตั้งอยู่ได้ในพื้นที่บริเวณนี้ โดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าที่ตั้งโรงงานดังกล่าว อยู่ในพื้นที่สีแดงของผังเมืองสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับอาคารพาณิชย์และแหล่งชุมชน ทั้งที่โรงงานขนาดใหญ่แบบนี้ควรจะไปตั้งในพื้นที่สีม่วง

 

      ขณะเดียวกันทาง เฟสบุ๊ก iLaw ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. โรงงาน ปี 2562 มีการปรับเปลี่ยนและตัดบางมาตราของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 (ฉบับเดิม) อย่างเช่น การปลดล็อกให้โรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดต่ำกว่า  50 แรงม้าขึ้นไป หรือกิจการที่มีคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ถูกจัดเป็นโรงงานภายใต้การกำกับดูแลกฎหมายโรงงาน แต่จะอยู่ภายใต้การดูแลของข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 แทน ซึ่งสามารถประกอบกิจการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมืองหรือทำเลที่ตั้ง โดยผลที่อาจจะตามมาของการแก้ไขดังกล่าว คือ การทำให้บางโรงงานที่ใช้เครื่องจักรขนาดเล็กและมีคนจำนวนไม่มาก แต่เป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงและกระทบกับสิ่งแวดล้อม หลุดรอดจากการตรวจสอบ รวมถึงยังอาจเป็นการเอื้อให้โรงงานขนาดใหญ่สามารถตั้งโรงงานได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมถึงอาจทำให้เกิดการลัดขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดความหละหลวมในการตรวจสอบ และขาดการพิจารณาถึงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งโรงงาน และผลกระทบอื่น ๆ อีกทั้งยังยกเลิกระบบการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุก 5 ปี ซึ่งอาจทำให้ไม่มีระบบการตรวจสอบสภาพโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ใกล้ ว่ายังอยู่ในสภาพที่สามารถดำเนินการเปิดต่อไปได้หรือไม่

 

      จากเหตุการณ์โรงงานหมิงตี้ฯ ระเบิดจนทำให้เกิดไฟไหม้ในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความสูญเสียทั้งทางทรัพย์สิน และต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงแล้วนั้น ยังสะท้อนไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่มีช่องว่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผังเมืองที่ล้มเหลว ช่องว่างทางกฎหมาย กระบวนการตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงานและความปลอดภัย เมื่อโรงงาน และแหล่งชุมชน อยู่ใกล้กันมากถึงเพียงนี้ หลาย ๆ คน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง คงต้องตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญ ก่อนที่ในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นซ้ำรอยเดิม เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกครั้งอย่างแน่นอน


ภูริชยา ภูวญาณ : ข้อมูลจากระบบรายงานข่าวสถานการณ์คุณธรรม

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)


อ้างอิง

  • BBC NEWS. (2021). โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้: สารเคมีตกค้าง ปัญหาใหม่หลังเหตุไฟไหม้โรงงานสารเคมี จ.สมุทรปราการ, สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-57723752
  • iLaw. (2021). ร่าง พ.ร.บ. โรงงาน: ระเบิดเวลาของชุมชนและสิ่งแวดล้อม, สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564.   https://ilaw.or.th/node/5163?fbclid=IwAR3feO1DAyn5quqxm-dK7xmWFEv-aq13AbiacOEdFGY4jJMqCW2nZVxIfCU
  • โหนกระแส. (2021). เหตุโรงงานที่กิ่งแก้วระเบิดทำสารพิษลอยในอากาศ เร่งช่วยเหลือ ใครต้องรับผิดชอบ, สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.youtube.com/watch?v=7Ydvwy-myNQ
  • บริษัท บิสซิเนส ไลเซนซ์ เอ็กซ์เพิร์ท จำกัด. (2021). กฎหมายโรงงานที่ผู้ประกอบการควรรู้, สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม2564. จาก https://business-license-expert.com/กฎหมายโรงงาน/
  • ประชาชาติธุรกิจ. (2021). โศกนาฏกรรม ‘หมิงตี้’ โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ในวงล้อมชุมชน, สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม2564. จาก https://www.prachachat.net/economy/news-707547
  • สมิตานัน หยงสตาร์. (2021). โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ : 25 ปีที่ผ่านหลายภัยพิบัติของสาวชาวสมุทรปราการ, สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-57793771
  • สยามรัฐออนไลน์. (2021). เบื้องลึก! "หมิงตี้" รง.พลาสติกยักษ์ใหญ่ 1 ใน 2 ไทย เกิดก่อน EIA-ผังเมือง ชุมชนเท่ากับอยู่ในดงระเบิด, สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564. จาก https://siamrath.co.th/n/259053

ค้นหาหนังสือ