10 ตุลาคม 2561 จะครบ 3 เดือนที่ทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย ตลอดระยะเวลา 18 วันของภารกิจช่วยเหลือ สังคมไทยได้เห็นถึงพลังของความร่วมแรงร่วมใจ พลังของจิตอาสาที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก
ท่ามกลางความร่วมมือร่วมใจประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ พลังของสื่อสังคมออนไลน์ที่นอกจากมีบทบาทในการให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ และเป็นพื้นที่กลางในการประสานงานแล้ว พลังของสื่อชนิดนี้ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวคนด้วย
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มีโอกาสได้สัมภาษณ์จิตอาสาที่ร่วมช่วยเหลือในภารกิจถ้ำหลวง 2 กรณี คือ 1. ทีมสูบน้ำซิ่ง นครปฐม บ้านแพ้ว สมุทรสาคร ประกอบไปด้วย คุณธวัชชัย ฟุ้งขจร หรือโจ คุณเอกชัย แซ่เตียว หรือเอก ท่อสูบน้ำซิ่ง และคุณอรรถพล ศรีอยู่ ทีมท่อสูบน้ำซิ่งป็อบบ้านแพ้ว ของคุณพนม ชื่นภิรมย์ และ 2. คุณรวินทร์มาศ ลือเลิศ หรือคุณเปรม เจ้าของร้านมิสไวท์คลีน ซักอบรีด จังหวัดเชียงราย ที่ช่วยซักเสื้อผ้าให้กับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมภารกิจถ้ำหลวง เรื่องเล่าของจิตอาสาทั้ง 2 กรณีนี้มีประเด็นร่วมที่น่าสนใจที่สะท้อนถึงพลังของสื่อสังคมออนไลน์ที่มาหนุนเสริมงานจิตอาสาได้เป็นอย่างดี
ในกรณีของทีมสูบน้ำซิ่ง นครปฐม บ้านแพ้ว สมุทรสาคร เมื่อทราบข่าวทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวง คุณเอกชัย ได้โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ว่ายินดีไปช่วยสูบน้ำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถ้ามีหน่วยงานที่สนับสนุนเรื่องการเดินทาง
ความตั้งใจนี้สำเร็จเมื่อ 29 มิถุนายน 2561 ทีมสูบน้ำซิ่งจำนวน 9 คนพร้อมท่อสูบน้ำ 4 เครื่องเดินทางไปยังถ้ำหลวงจากการประสานงานของหลายภาคส่วน เช่น คุณพนม ชื่นภิรมย์ ทีมสูบน้ำที่เดินทางไปสำรวจพื้นที่ล่วงหน้า ผู้ประกอบการรถเทรลเลอร์ ผู้นำท้องถิ่นทั้งในนครปฐมและเชียงราย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง โดยปฏิบัติภารกิจช่วยสูบน้ำจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่เสร็จสิ้นภารกิจ หลังจากทีมฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 คน รวมทั้งทีมเจ้าหน้าที่ออกมาจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัย
“ผมโพสต์ลงในข่าวจังหวัดนครปฐมตั้งแต่วันที่ 25 (มิถุนายน 2561) ก็มีการแชร์กันเยอะ เขาก็โทรมาถามว่าถ้าเป็นท่อเล็กไม่ต้องเอาขึ้นไป เพราะมีเยอะแล้ว ก็เลยบอกว่าท่อมีขนาดใหญ่มาก พอที่จะสูบน้ำได้สบายๆ พอเริ่มทำงานแล้ว เขาเดินมาพูดว่าน้ำยุบแล้ว เราก็เลยรู้สึกมีแรงใจที่จะทำงานต่อ”
ในกรณีของคุณรวินทร์มาศ ลือเลิศ หรือคุณเปรม เจ้าของร้านมิสไวท์คลีน ซักอบรีด การติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ได้สร้างแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือภารกิจนี้ โดยเริ่มจากการช่วยเหลือตามที่มีการประกาศขอมาในสื่อ และนำไปสู่การคิดค้นหารูปแบบการดำเนินงานตามที่ตนเองถนัด คืองานซักรีด
“การอยู่ในพื้นที่ทำให้ได้ข้อมูลข่าวสารใกล้ชิด สามารถฟังข่าวสารว่าต้องการอะไรจากเฟสบุ๊d ชุมชนแม่สาย ซึ่งเป็นข่าวที่เชื่อถือได้ วันหนึ่งมีประกาศรับข้าวเหนียวหมูทอดเพื่อให้เจ้าหน้าที่พกพาง่าย จึงชักชวนเพื่อนๆในกลุ่มไลน์รวมตัวกันซื้อข้าวไปส่ง ตอนเย็นได้ข่าวประกาศยกเลิกเพราะมันเยอะมาก มีคนเอาไปให้เยอะมาก เมื่อประกาศขอรับบริจาคถ่านไฟฉาย ก็คิดว่าถ้าช่วยเงินก็ได้ถ่านไม่กี่ก้อน จึงคิดว่าอยากช่วยอะไรที่สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งที่ทำได้ดีคือการซักผ้า จึงโพสต์ไปในเฟสบุ๊กของตนเองว่า รับซักผ้าฟรีให้เจ้าหน้าที่ และประสานกับหัวหน้างานกู้ภัยให้ช่วยประชาสัมพันธ์ขอรับซักผ้าเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ทุกคนที่ไปช่วยงาน หลังประกาศไปก็ยังไม่มีคนติดต่อมาเลย หลังจากนั้นมีคนช่วยแชร์ มีคนฝากหมายเลขโทรศัพท์ มีคนมาประสานงานให้ ทำให้ช่วงเย็นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ติดต่อมาแจ้งว่า ประสงค์จะซักผ้า หลังจากทำงานครั้งแรกได้พูดคุยกับนักข่าว มีการทำข่าว จึงเริ่มมีคนเข้ามา”
พลังของสื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นสื่อกลางนำพาให้ทีมสูบน้ำซิ่งและคุณเปรมมาร่วมเป็นจิตอาสาในปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งเป็นการใช้ “ทุนความดี” ที่มีซึ่งก็คือความถนัดของตนเอง ในการสนับสนุนงาน และด้วยเวลาที่ต่อเนื่องกันหลายวัน การเป็นจิตอาสาครั้งนี้จึง เป็นการทดสอบกำลังกาย กำลังใจไปด้วยในเวลาเดียวกัน
คุณธวัชชัย หรือคุณโจ เล่าถึงการทำงานของทีมสูบน้ำซิ่งว่า
“คิดว่าถ้าเจอเด็กแล้วก็จะจบ แต่มันไม่ใช่ เพราะว่าหลังจากเจอเด็กแล้ว เราก็ต้องสูบน้ำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยเด็กออกมาก่อน ลืมว่าหลังจากที่เจอเด็กแล้ว เราก็ต้องอยู่ต่อเพื่อสูบน้ำคงระดับน้ำไว้เพื่อให้เด็กคนสุดท้ายออกมาก่อน”
คุณเปรม เล่าถึงภารกิจรับซักผ้าที่ต่อเนื่องยาวนานหลายวันว่า
“รับผ้ามามากที่สุดประมาณ 150 คน ซึ่งหนึ่งคนมีหลายชิ้น ต่ำที่สุด 2 ชิ้นต่อคน เยอะที่สุด 6 ชิ้นต่อคน คนซักจริงๆคือลูกน้อง 3 คน ซึ่งเขารู้วิธีการจัดการอย่างรวดเร็ว มีความถนัด มีวิธีทำซึ่งไม่ยุ่งยาก หลังจากดำเนินงาน 10 วัน ได้เรียกทุกคนมาคุย ขอโทษลูกน้องทุกคน เพราะไม่คิดว่าเหนื่อยและหนักขนาดนี้ มีการพูดคุยกันทั้งเพื่อน และลูกน้องจิตอาสา โดยเสนอจะให้ค่าล่วงเวลาลูกน้อง แต่ลูกน้องปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าได้ช่วยกันมาตั้งแต่แรก และเหลืออีกไม่มากนัก ส่วนเพื่อนที่อาสามาช่วยรับส่งผ้าจากในเมืองก็ไม่รับค่าน้ำมัน แต่มีการจัดการใหม่ เริ่มปรับตัวเข้าหางานไม่ใช่ปรับงานเข้าหาตัว การจัดการให้ผ่านสถานการณ์ทำให้รู้สึกภูมิใจที่ทำได้ ในวันที่เด็กๆทีมหมูป่าออกจากถ้ำได้หมดทุกคนโล่งใจ การทำงานนั้นทำให้จนกระทั่งทุกหน่วยทั้งในและต่างประเทศกลับจากพื้นที่”
ถ้าพิจารณาจากการให้สัมภาษณ์อาจมองได้ว่า ทีมสูบน้ำซิ่งและคุณเปรมมีหัวใจของจิตอาสา และมีการออกแบบวิธีการทำงาน ที่ดูเหมือนมีประสบการณ์การทำงานจิตอาสามาก่อน แต่หลังจากพูดคุยกันพบว่าทั้งสองกรณีต่างมีประสบการณ์เป็นจิตอาสาครั้งแรกในภารกิจถ้ำหลวง
คุณเปรมสะท้อนความรู้สึกในการเป็นจิตอาสาครั้งแรกที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และต้องมีการวางแผนการจัดการอย่างมากว่า
“ไม่เคยช่วยเหลือสังคมขนาดครั้งนี้ ไม่เคยทำลักษณะนี้ ค่ายอาสาก็ไม่เคยทำ ทำเต็มที่ก็แค่เคยบริจาคเงิน แต่พอมาเหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่มีกำลังทรัพย์เลยด้วยซ้ำ เราตั้งใจช่วย แต่ไม่คิดว่าจะได้ช่วยเยอะขนาดนี้ ความรู้สึกของเราคือถ้าเขาไม่ไหวจริงๆเขาคงไม่ขอให้เราช่วย ทั้งๆที่เขาเกรงใจเราพอสมควร สิ่งที่ได้มันอธิบายเป็นคำพูดไม่ถูก เราไม่เคยทำงานแบบนี้ เราช่วยคนที่จำเป็นต้องช่วย”
คุณอรรถพล หนึ่งในสมาชิกทีมสูบน้ำซิ่งกล่าวถึงภารกิจครั้งนี้ว่า
“เป็นงานช่วยชีวิตครั้งแรกที่รู้สึกภูมิใจมาก ผมนั่งคุยกับทีมงาน และเห็นในภาพข่าวมาหลายวัน แล้วหลายๆคนก็ยังไม่รู้จักเครื่องสูบน้ำของเราว่าใหญ่ประมาณไหน การที่เราดูจากในสื่อเราเห็นว่าน้ำออกน้อย ไม่รู้จะแห้งตอนไหน ในพื้นที่ที่กว้างแล้วเจอฝนตกตลอด เราเลยคิดว่าเรามีศักยภาพในการที่จะไปช่วยได้ก็เลยตัดสินใจไป เรารู้ศักยภาพของเราว่าทำได้ประมาณไหนและมีที่ให้เราทำงาน เราเลยคิดว่าเราสามารถช่วยได้ไม่มากก็น้อยและได้ผลกลับมาเกินคาดมาก”
ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ดึงพลังของความเป็นมนุษย์ที่เห็นอกเห็นใจกัน และมีความปรารถนาดีต่อกัน ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านปฏิบัติการที่หลากหลาย โดยมีสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือสนับสนุน ทั้งในฐานะที่เป็นช่องทางให้คนได้ทำความดีในแบบฉบับของตนเอง เชื่อมโยงประสานงาน และขยายเรื่องราวความดีในรับรู้ในสังคมวงกว้าง
นอกจากนั้นชุดประสบการณ์ของการเป็นจิตอาสายังได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวของจิตอาสา และกลายเป็นแรงผลักดัน (Momentum) ที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีต่อไป
ทีมสูบน้ำซิ่งมองย้อนถึงภารกิจถ้ำหลวงว่า
“เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก ที่ไปช่วยทำให้สำเร็จภูมิใจมาก เราไม่เคยรู้จักกัน มีอัธยาศัย ไปสูบน้ำ พอกลับบ้านมีประชาชนมา หน่วยงานต่างๆมาปรบมือ สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้คาดหวังอะไร ความตื้นตันมาเลยว่าเราทำได้ ไม่เคยคิดว่าคนเป็นร้อยเป็นพันมายืนดู ยืนชื่นชมท่อสูบน้ำ ประทับใจความมีน้ำใจของคนไทยเล็กๆ ที่ไม่ทิ้งกัน ทำอะไรก็ได้สักอย่าง ช่วยกัน อะไรพอหยิบจับได้ก็ช่วยเลย เงินทองสิ่งของ รวมกลุ่มกันช่วย อยากให้สังคมไทยเกื้อกูล สามัคคีกันแบบนี้ จุดประกายให้อยากทำความดีมากขึ้น ทำความดีแล้วเป็นความรู้สึกดีๆ ของครอบครัว และของคนที่เรารู้จัก”
หลังจากช่วยเหลือภารกิจถ้ำหลวงแล้วคุณเปรม ได้เป็นจิตอาสาระดมความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว “เหตุการณ์น้ำท่วมลาว เราขอของบริจาค ทุกคนพร้อมช่วย เราเอาตัวเราเป็นจุดกลางรับของบริจาคเพื่อไปส่งต่อ เราโพสต์ในเฟสบุ๊ก และก็มีไปช่วยที่ลาว นำเอาของไปบริจาค และเข้าไปถึงพื้นที่จริงๆที่ลาว ได้ไปเห็นพื้นที่จริง เอาของไปบริจาคที่นั่นเลย”
เมื่อถามถึงนิยามความหมาย “จิตอาสา” ในแบบของตนเอง ทีมสูบน้ำซิ่ง ทั้ง 3 คนได้ร่วมกันนิยามว่า “การช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน สิ่งตอบแทนคือรอยยิ้มหรือความสุขของคนที่เราไปช่วย”
ขณะที่คุณเปรมเสนอว่า
“ทุกคนทำได้หมด อยู่ที่แรงกาย แรงใจ ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมที่จะทำหรือไม่ อย่างชาวนาที่ปล่อยให้น้ำท่วมนา เขาก็คือคนที่มีจิตอาสา เพื่อนของเราเองเป็นข้าราชการก็มาช่วยได้ การทำจิตอาสา ทำแล้วอย่าฝืน ทำแล้วบังคับจะเหนื่อยจะเหมือนทำงาน ทำแล้วต้องมีความสุข การบังคับไม่ใช่จิตอาสา ทำแล้วอย่าให้ตัวเองเหนื่อยมาก อย่าบังคับตัวเอง เราทำแล้วเขาขอบคุณเรา เราก็มีความสุข ทำแบบไม่ต้องมีคนมาบังคับ เพราะรู้ว่าสามารถทำได้เท่าไร และทำแบบประมาณตน”
เรื่องเล่าของทีมสูบน้ำซิ่งและคุณเปรมจึงสะท้อนให้เห็นแนวโน้มของงานจิตอาสาที่มีพัฒนาการควบคู่กับบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความสำคัญมากขึ้นในโลกยุคดิจิตอลแพลตฟอร์ม ถ้ามองในเชิงยกระดับจากปรากฏการณ์ถ้ำหลวง แนวทางการขับเคลื่อนงานจิตอาสาเพื่อตอบโจทย์สังคมในปัจจุบันจึงอยู่ที่การใช้พลังของสื่อทั้งในฐานะเป็นช่องทางในการเข้าถึงกิจกรรมจิตอาสา และเป็นช่องทางในการส่งต่อเรื่องราวการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างแรงผลักดันในการเป็นจิตอาสาของคนในสังคมต่อไป
อ้างอิงข้อมูล:
ธวัชชัย ฟุ้งขจร เอกชัย แซ่เตียว และอรรถพล ศรีอยู่ ทีมสูบน้ำซิ่งนครปฐม บ้านแพ้ว-สมุทรสาคร (สัมภาษณ์ 8 สิงหาคม 2561)
รวินทร์มาศ ลือเลิศ (สัมภาษณ์ 16 สิงหาคม 2561)