ขณะนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังสรุปแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อส่งต่อให้กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จึงมีคำถามอยู่เสมอว่า “เราต้องจะปฏิรูปอะไร” และ “ปฏิรูปอย่างไร”
แนวคิดพื้นฐานของการพัฒนาองค์กร คือ การพัฒนา “คน” และปฏิรูป “งาน” โดยนำบทเรียนในอดีต (Lesson Learned) มาเพื่อแก้ไขปัญหาในอดีตและปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่เมื่อโลกหมุนมาถึงยุค “โลกาภิวัตน์” ทำให้เกิดสภาวะโลกล้อมประเทศ จึงต้องมีการนำความเห็นของต่างประเทศมาพิจารณา “ปฏิรูป” โดยเฉพาะเรื่อง “ความเชื่อถือและไว้วางใจ” ในสายตาของต่างประเทศ
องค์กรที่ประเมินประเทศต่างๆ อยู่เป็นประจำ คือ World Economic Forum (WEF.), International Institute of Management Development (IMD.) และ Transparency International (TI.)
WEF.ได้ประเมินความสามารถการแข่งขันในเวทีการเมืองโลก (The Global Competitiveness) ใน ๑๒ ด้าน ๑๐๐ ตัวชี้วัด เผยแพร่ประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี
จากรายงานปี ๒๐๑๔-๒๐๑๕ ซึ่งเป็นการประเมินก่อนรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ด้านที่ประเทศไทยได้คะแนนต่ำมาก คือ ด้านความเป็นสถาบัน (Institution) ที่มี ๑๒ ตัวชี้วัด ได้รับการประเมิน ๓.๗ จาก ๗ คะแนน เป็นลำดับที่ ๘๔ ของ ๑๔๔ ประเทศ จึงเป็นบทเรียนที่ควรศึกษาเพื่อการปฏิรูป
ตัวชี้วัดที่ได้รับการประเมินต่ำมากเป็นลำดับที่เกิน ๑๐๐ จาก ๑๔๔ ประเทศ ได้แก่ (๑)การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (๒) การจัดสรรเงินสาธารณะ (๓) ความไว้วางใจจากสาธารณะต่อนักการเมือง (๔) ความสูญเปล่าในการใช้เงินของรัฐบาล (๕)ความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย (๖) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการก่อการร้าย และ (๗) ความเชื่อถือในกิจการตำรวจ
เมื่อ เปรียบเทียบกับผลการประเมินด้าน “ความเป็นสถาบัน” ในปี ๒๐๑๒ ประเทศไทยได้คะแนนลดลงจาก ๓.๘ เหลือ ๓.๗ และลำดับสูงขึ้นจาก ๗๗ เป็น ๘๔ มีเพียง ๕ ตัวชี้วัดที่มีลำดับเกิน ๑๐๐ แสดงว่า ประเทศไทยมีสมรรถนะของการแข่งขันกับประเทศอื่นด้อยลง ทั้งคะแนนและลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารประเทศด้อยคุณภาพลงมาก สามารถพิจารณาได้เป็น ๓ กลุ่ม
กลุ่มแรก มีการพัฒนาทำให้ลำดับดีขึ้นเพียง ๑ ตัวชี้วัด ได้แก่ การละเมิดลิขสิทธิ์ ดีขึ้นจาก ๑๐๓ มาเป็นลำดับ ๗๒ คะแนนเพิ่มขึ้นจาก ๓.๗ เป็น ๔.๑ แสดงว่าประเทศไทยได้ปรับปรุงเรื่องนี้ได้ดี ส่วนการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ได้คะแนน ๓.๑ เท่าเดิม แต่ลำดับเพิ่มขึ้นจาก ๑๐๑ เป็น ๑๐๔ แสดงว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังไม่ได้ผล ในขณะที่ประเทศอื่นมีการพัฒนาที่ดีขึ้นกว่าเรา จึงต้องเร่งรัดปฏิรูปต่อไป
กลุ่มที่สอง คะแนนต่ำลง ลำดับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาในเรื่องเหล่านี้เลย ได้แก่ (๑) ความไว้วางใจจากสาธารณะต่อนักการเมือง คะแนนลดลงจาก ๒.๒ เป็น ๑.๙ ลำดับเพิ่มขึ้นจาก ๑๐๗ เป็น ๑๒๙ (๒) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการก่อการร้าย คะแนนลดลงจาก ๔.๘ เป็น ๔.๑ ลำดับเพิ่มจาก ๑๑๕ เป็น ๑๒๑ และ (๓) ความเชื่อถือในกิจการตำรวจ คะแนนลดลงจาก ๓.๖ เป็น ๓.๒ ลำดับเพิ่มจาก ๑๐๑ เป็น ๑๑๓ จึงสะท้อนให้เห็นว่า ๓ เรื่องนี้ต้อง “ปฏิรูป” โดยด่วน
กลุ่มที่สาม ประเทศไทยไม่ได้พัฒนากิจการเหล่านี้ในขณะที่ต่างประเทศมีการพัฒนา ได้แก่ (๑) การจัดสรรเงินสาธารณะ คะแนนลดลงจาก ๓.๐ เป็น ๒.๖ ลำดับเพิ่มจาก ๘๒ เป็น ๑๐๘ (๒) ความสูญเปล่าในการใช้เงินของรัฐบาล คะแนนลดลงจาก ๓.๒ เป็น ๒.๕ ลำดับเพิ่มจาก ๗๐ เป็น ๑๑๕ และ (๓) ความโปร่งใสในการกำหนดนโยบายคะแนน ลดลงจาก ๔.๐ เป็น ๓.๗ ลำดับเพิ่มขึ้นจาก ๘๙ เป็น ๑๐๐ ซึ่ง ประเด็นเหล่านี้เกี่ยวกับ “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) ในการบริหารประเทศที่ต้อง “ปฏิรูป”
ในตอนสุดท้าย WEF. ได้สรุปปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องได้รับการแก้ไข ๔ ประการแรก คือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น (๒๑.๔%) ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองจากการรัฐประหาร (๒๑.๐%) ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานของระบบราชการ (๑๒.๗%) และปัญหาไม่มีเสถียรภาพของนโยบาย (๑๑.๘%)
จากผลการประเมินของ WEF.จะเห็นว่า สมรรถนะการแข่งขันของไทยอ่อนด้อยในสายตาของต่างประเทศเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “คน” โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ด้อยคุณภาพและขาดจริยธรรม ผสมผสานกับการบริหารราชการที่ขาดธรรมาภิบาล จึงมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก ทำให้ขาดความเชื่อถือและไว้วางใจ
สำหรับ IMD. ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่สวิสเซอร์แลนด์ ได้ประเมินความสามารถในการแข่งขันของ ๖๐ ประเทศ ในปี ๒๐๑๔ ประเทศไทยอยู่ในลำดับ ๒๙ (ตกเป็นลำดับ ๓๐ ในปี ๒๐๑๕ แต่ยังไม่มีรายละเอียด) ได้ระบุความท้าทายต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในปี ๒๐๑๔ ไว้ดังนี้
- ปฏิรูปการเมืองและรัฐบาลให้มีคุณภาพและสร้างความสมดุล
- เพิ่มความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น (Watchdog) โดยขจัดการร่ำรวยที่ผิดกฎหมายจากการใช้จ่ายเงินของประเทศ
- เพิ่มความเข้มแข็งในการใช้อำนาจเพื่อปฏิรูปสังคมด้านการศึกษาและสาธารณสุข
- ปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อจัดสรรรายได้ที่เป็นธรรมให้กับภาคส่วนต่างๆ
- ออกแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการขยะ
ส่วน TI. ได้ประเมินตามดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ซึ่งเน้นเรื่อง “การกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน” ซึ่งในปี ๒๕๕๗ ประเทศไทยได้คะแนน ๓๘ คะแนนจากคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน อยู่อันดับที่ ๘๕ จากการจัดอันดับทั้งหมด ๑๗๕ ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ ๑๒ จาก ๒๘ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จากตรวจสอบผลการประเมินใน ๓ ปีที่ผ่านมา ไทยได้รับคะแนน ๓๘, ๓๕ และ ๓๘ จาก ๑๐๐ คะแนน ซึ่งแสดงว่า สถานการณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศไทยไม่ดีขึ้นเลย จึงต้องเร่งรัดขจัดปัญหาเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ของส่วนรวม (Conflict of Interest) ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องเร่งด่วน
เรื่องประโยชน์ทับซ้อนนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลทุกชุด โดยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงว่า
“ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบขยาย การบังคับใช้บทบัญญัติเรื่องการห้ามการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้ครอบคลุมผู้ใช้อำนาจรัฐในตำแหน่งสำคัญและตำแหน่งระดับสูงอย่างทั่วถึง”
ส่วนรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงว่า
“ปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในภาครัฐทุกระดับ โดยถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติและเป็นเรื่องที่ต้องแทรกอยู่ในการปฏิรูปทุกด้าน”
ตราบ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์เกิดขึ้น ทำให้ประเมินได้ว่าการตรากฎหมายนี้มี “แรงเสียดทาน” (Friction) มาก ซึ่งเกิดมาจากการที่คนไทยมีความโลภและความเห็นแก่ตัวมากขึ้นอันเป็นผลมาจากระบบทุนนิยมในกระแสโลกาภิวัตน์ จึงต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหาทั้งปวงอันนี้
เมื่อ ปี ๒๕๕๔ ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) ได้เสนอ “แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ” จากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สรุปเป็นแนวคิดในการสร้างค่านิยม ๓ ประการ คือ ความซื่อตรง (Integrity) ความรับผิดชอบ(Accountability) และความพอพียง (Sufficiency) โดยเริ่มรณรงค์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นลำดับแรก เพื่อให้เป็น “แบบอย่าง” ของประชาชน
“ความ ซื่อตรง” หรือ “อาชวะ” เป็น ๑ ใน ๑๐ ของ “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ “หลักราชการ” เมื่อปี ๒๔๕๗ ไว้ ๒ ประการ ความว่า
“ความ ซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ ตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบหมายเป็นหน้าที่ของตนโดยซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความอุตสาหวิริยภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจกรรมนั้นๆ บรรลุซึ่งความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุดที่พึงมีหนทางปฏิบัติได้”
และ “ความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป คือ ประพฤติซื่อตรงต่อคนทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนควรเขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้ โดยรักษาวาจาสัตย์พูดอะไรเป็นมั่น ไม่เหียนหันเปลี่ยนแปลง คำพูดไปเพื่อความสะดวกเฉพาะครั้ง ๑ คราว ๑”
เมื่อพิจารณาสาระของความซื่อตรงต่อหน้าที่ตรงกับ “ความรับผิดชอบ” ด้วยการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต วิริยะอุตสาหะ และทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายอย่างดีที่สุด
ส่วนความซื่อตรงต่อบุคคลทั่วไป เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธาและไว้วางใจด้วยการรักษาคำมั่นสัญญาและคำ พูด ซึ่งถ้ารวมกับทศพิธราชธรรมประการสุดท้าย คือ “อวิโรธนะ” ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมแล้วก็จะทำให้สอดรับกับความหมายของ Integrity ซึ่งเป็นค่านิยมที่ทั่วโลกยึดถือเป็นมาตรฐาน
สำหรับ “ความพอเพียง” เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นวิถีชีวิต ด้วยการดำรงตนอยู่ในกรอบของ “พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน” และยึดมั่นใน “ความรู้ควบคู่คุณธรรม” มีความซื่อสัตย์สุจริต อดทน อดกลั้น อดออม ซึ่งความพอเพียงนี้จะช่วยลด “ความโลภ” ในตัวคนได้มาก
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนมีความ “ซื่อตรง รับผิดชอบ พอเพียง” แล้ว ปัญหาที่องค์กรนานาชาติทั้ง ๓ องค์กรประเมินน่าจะบรรเทาเบาบางไปได้มาก
ขณะเดียวกัน ต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเน้นการให้ความรู้และป้องปรามการกระทำผิดให้มากขึ้น และเร่งรัดการตรากฎหมายว่าด้วย “ความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม” รวมถึงปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิผลด้วย
นอก จากนั้น ควรปรับปรุงกฎหมายธรรมาภิบาลที่มีอยู่เดิม คือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ ให้เป็นพระราชบัญญัติที่มีผลบังคับกับทุกหน่วยงานของรัฐ
สิ่ง สำคัญประการสุดท้าย คือ รัฐบาลต้องกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของบุคคลสาธารณะซึ่งหมายถึงนักการเมืองและ ผู้บริหารระดับสูง โดยกำหนดเป็นประมวลความประพฤติ (Code of Conduct) ที่มีกำหนดความประพฤติที่ทำได้และทำไม่ได้อย่างชัดเจน พร้อมกับกำหนดให้ผู้เสนอแต่งตั้งหรือเสนอชื่อเข้ารับการเลือกตั้ง ต้องรับรองความประพฤติตามที่กำหนดและรับผิดชอบในการเสนอชื่อหากมีความ บกพร่องด้วย
และต้องไม่ลืมว่าการปฏิรูปที่ดีที่สุด คือ “เริ่มต้นจากตนเอง” และขยายตัวออกไปสู่คนใกล้ชิดครับ
เขียนให้สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า, ๑๗ ก.ค.๕๘