ชุมชนคุณธรรมพลัง บ(อ)วร.
จริงๆแล้ว คำนี้ ควรใช้คำว่า ชุมชนคุณธรรมพลัง บอวร. หรือ บอรม. (ในพื้นที่ชุมชนมุสลิม) อักษรแต่ละคำ มีความหมายอย่างไร ทำไมต้องมี อ. ส่วน ว. และ ม. พอเดาออกว่า เป็นคำย่อของวัด (ว.)ในมิติชุมชนที่มีชาวพุทธเยอะ และ มัสยิด (ม.) ในมิติชุมชนมุสลิมเยอะ
คำที่เพิ่มขึ้นมา จากสามตัวแรก ที่มี บ. คือ บ้านหรือชาวบ้าน ที่มีกลไกกรรมการหมู่บ้าน เป็นแกนหลัก และ ร. คือ ส่วนราชการในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา คือ อ. คำนี้ มีความหมายถึงหุ้นส่วนการพัฒนาอีกหนึ่ง Sector นั่นคือ องค์กรภาคธุรกิจเอกชน
เราไม่ควรลืมบทบาทของภาคเอกชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา ที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์มนุษย์ ตั้งแต่มีระบบการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ซึ่งสมัยก่อน มีผู้ผลิต นำมาจำหน่าย หรือ มีผู้นำของที่คนอื่นผลิตมาแล้วไปจำหน่ายตามที่ต่างๆ จนเกิดคำที่เรียกว่า พ่อค้า ในเชิงสัญลักษณ์มาจนทุกวันนี้ พ่อค้า มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองมาแต่โบราณกาล เมื่อร่ำรวยขึ้นชาวบ้านก็เรียกเศรษฐี หรือผู้ใจบุญ ที่มีทรัพย์มากนั่นเอง พ่อค้าในอดีตช่วยสร้างเมืองให้เข้มแข็ง สร้างศาสนสถานให้อลังการ เพราะมีทุนทรัพย์มาก แถมในสถานการณ์ที่ยากลำบาก พ่อค้าหรือเศรษฐีเหล่านี้ จะนำอาหาร สิ่งของมาทำโรงทาน ช่วยเหลือแบ่งปันสังคม เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น
การพัฒนาชุมชนคุณธรรม จึงต้อง อาศัยพลังของเอกชน เข้ามาเสริมแรง ให้เข้มข้น ครบเครื่อง ทั้งเรื่องทุน เรื่องสื่อ เครื่องมือที่ทันสมัย และสิ่งใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ดังความสำเร็จที่เราเห็นบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ได้ออกมาช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอ โดยแบ่งกำไรให้สังคมเป็นนโยบายบริษัท เช่น บ.ริกิ การ์เมนส์ จำกัด ที่ไปช่วยชุมชนทำฝายมีชีวิตทุกปี บ.เจ เอช อุตสาหกรรม จำกัด ที่โคราช ที่ช่วยชุมชนรอบข้างโรงงานมาตลอดสิบๆปี บ.ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ออกไปช่วยส่งเสริมสุขภาพชุมชน บ.ผึ้งน้อย เบเกอรี่ จำกัด ที่เชียงใหม่ ที่เน้นสร้างคนดีคู่กับสังคมดี และอื่นๆอีกมากมาย นับไม่ถ้วน เท่าที่ได้รายงานมาจากโครงการส่งเสริมองค์กรธุรกิจคุณธรรม จากศูนย์คุณธรรม
การสื่อสารชุมชนคุณธรรม ด้วยพลัง บอวร. หรือ บอรม. จึงต้องไม่ลืมภาคเอกชน ในพื้นที่หรือในตำบลนั้นๆ และต้องยกให้เป็นกัลยาณมิตรที่จะเข้ามาเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นสุข เรื่องนี้ อยู่ในหลักการของการส่งเสริมธรรมนูญสันติสุขหมู่บ้าน ใครอยากทราบมากกว่านี้ ให้ไปศึกษาที่ จ.บุรีรัมย์ หรือในเครือข่ายความสุขชุมชน ใน 15 จังหวัด จะได้คำตอบ ..
ยงจิรายุ อุปเสน