ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิง คุณธรรม หรือศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในปัจจุบัน มีภารกิจหลักในการสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดี ด้วยการสนับสนุนให้มีการ “วิจัยเชิงปฏิบัติการ” เพื่อแสวงหากระบวนการกระตุ้นจิตสำนึกด้านคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวทุกคน ให้เกิดการพัฒนาตนเอง ผลงานตั้งแต่จัดตั้งเมื่อปี ๒๕๔๗ มีการสร้างองค์กรต้นแบบมากมาย ตั้งแต่โรงเรียน ชุมชน องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน
โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม “คิดและทำ” เพื่อพัฒนาให้เกิด “องค์กรแห่งคุณธรรมความดี” ซึ่งทำให้ทุกคนมีความสุขในการอยู่ร่วมกันและสามารถทำให้เกิดความเจริญก้าว หน้าได้โดยง่าย ปรัชญาหรือความรู้ทางวิชาการที่ ใช้ คือ หลักการบริหารงานยุคใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรร่วมกันคิดเพื่อวาง“ความสามารถหลัก”(Core Competencies) และ“ค่านิยมร่วม”(Core Values) ขององค์กร
ศูนย์คุณธรรมได้นำหลักวิชาการนี้ มาสร้างเป็นวรรคทองว่า “ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ” แล้วนำปัญหาที่อยากแก้มาร่วมกันหาหนทางแก้ไขด้วยหลักคุณภาพ (Plan Do Check Action – PDCA.) และใช้ความดีมาสร้าง “ค่านิยม” ให้เป็น “อัตลักษณ์” เพื่อเป็นพลังผลักดันให้งานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี โรงเรียนที่ศูนย์คุณธรรมสนับสนุนให้มีการสร้างคุณธรรมความดี ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีครูและนักเรียนไม่มากนัก
ดังนั้น เมื่อได้รับการชักชวนจากท่านปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินในขณะนั้น ให้ร่วมกันพัฒนาคุณธรรมความดีในโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ มีนักเรียน ๒,๒๐๐ คน ครูและผู้บริหารเกือบ ๒๐๐ คน จึงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของศูนย์คุณธรรม สภาพแวดล้อมของโรงเรียนบางมูลนากฯ เมื่อเริ่มโครงการในปี ๒๕๕๓ มีสภาพเช่นเดียวกับโรงเรียนขนาดใหญ่ทั้งไป กล่าวคือ มีพฤติกรรมทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียนไม่เหมาะสม เช่น การพูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ทะเลาะวิวาท ลอกการบ้าน ทุจริตในการสอบ ไม่ทิ้งขยะลงในถังขยะ ไม่เข้าแถวซื้ออาหาร มาโรงเรียนสาย แต่งกายไม่เรียบร้อย ไม่มี สัมมาคารวะ ไม่มีจิตอาสา ไม่ดูแลรักษาทรัพยากรส่วนรวม ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นต้น
จากรายงานการสังเคราะห์องค์ความ รู้ กระบวนการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม บางมูลนากโมเดล กล่าวว่า ก้าวแรกของของการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว คือ การกระตุกต่อมคิด และกระตุ้นจิตวิญญาณของความเป็นครู “พัฒนาครู ครูร่วมคิดร่วมทำ น้อมนำความสำเร็จ นิเทศติดตามผล” เพื่อให้เกิดครูต้นแบบ โดยการสื่อสารกับครูและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาทักษะการคิดเชิงระบบ คิดเพื่อแก้ไขปัญหา คิดสร้างสรรค์ การสื่อสารเชิงลึกในองค์กร และเปิดโลกทัศน์ เติมเต็มความรู้ ประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยการศึกษาดูงานตัวอย่างที่ดี เพื่อให้ครูเป็นกลไกสำคัญ ทำหน้าที่เพาะบ่มต้นกล้าเยาวชนคนคุณธรรม จริยธรรม ให้เติบโตงอกงาม แข็งแรงพร้อมกับภูมิคุ้มกัน
สำหรับกระบวนการในการดำเนิน โครงการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม
ในการสังเคราะห์ครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น ๓ ระยะได้แก่ ๑) การเตรียมความพร้อม ๒) การลงมือปฎิบัติการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และ ๓) การติดตามประเมินผลและการสังเคราะห์องค์ความรู้ ในขั้นเตรียมความพร้อมได้ร่วมกันกำหนด “ยุทธศาสตร์ ๓-๖-๓” ประกอบด้วย
๓ อัตลักษณ์ “ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ” ได้แก่ “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความพอเพียง”
๖ กิจกรรมหลัก คือ ๑) เสริมสร้างระเบียบวินัย ๒) เสริมสร้างความดี ๓) เสริมสร้างความกตัญญูกตเวที ๔) การพัฒนาจริยธรรม ๕) ส่งเสริมจิตอาสา ๖) พัฒนาโรงเรียนสีขาว
๓ ยุทธศาสตร์ ๑) การพัฒนาครู ๒) การพัฒนานักเรียน ๓) การพัฒนาสภาพแวดล้อม
จากกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันว่า ตัวบ่งชี้ของครูและผู้บริหาร ได้แก่ ไม่เบียนเบียนเวลาราชการ ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากนักเรียนและโรงเรียน ตรงต่อเวลา รับผิดชอบในหน้าที่ จิตอาสา และประหยัดทรัพยากรของโรงเรียน ตัวบ่งชี้ของนักเรียน ได้แก่ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง มีจิตอาสา และจิตสำนึกสาธารณะ ส่วนสภาพแวดล้อม ได้แก่ โรงเรียน สะอาด ร่มรื่น สวยงาม และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน
จากอัตลักษณ์และตัวบ่งชี้ดังกล่าว ได้ถูกนำไปสู่การปฏิบัติ ๖ ขั้นตอน คือ ๑) จัดโครงสร้างการทำงานทุกระดับ ๒) สร้างเครือข่ายผู้ปกครอง/ชุมชน ๓) การบูรณาการทำงานโครงการกับภารกิจหลัก งานประจำ กิจกรรมพิเศษ ๔) การพัฒนาสภาพแวดล้อมโรงเรียนสีขาว ๕) การนิเทศ ติดตาม สรุปบทเรียน สร้างขวัญและกำลังใจ ๖) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่
อาจารย์ปกาศิต เรียมสุวรรณ ผู้รับผิดชอบโครงการได้เล่าให้ฟังว่า โครงงานที่นักเรียนคิดริเริ่มทำขึ้นมีมากถึง ๑๐๘ โครงงาน เฉลี่ย ๒ โครงงานต่อห้องเรียน โครงงานที่น่าสนใจ เช่น การลดละเลิกการลอกการบ้าน การเดินแถวเมื่อเปลี่ยนคาบเรียน ซึ่งเริ่มจากนักเรียนห้องเดียว เมื่อห้องอื่นๆ เห็นว่าเป็นความดีที่ควรปฏิบัติ ก็ได้นำไปทำจนเกิดสิ่งดีงามขึ้นทั้งโรงเรียน ดร.มานพ เกิดเมฆ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ที่ย้ายมารับตำแหน่ง ๑ ปีหลังจากเริ่มโครงการแล้ว และสานต่อโครงการจนสำเร็จใน ๓ ปีต่อมา ได้ให้ความเห็นว่า “กระบวนการสร้างโรงเรียนคุณธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย จึงเป็นความท้าทายในฐานะที่เคยเป็นศิษย์เก่าและครูน้อยในโรงเรียนนี้มาก่อน อีกทั้งการที่ได้มีโอกาสไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอื่น ทำให้มีประสบการณ์กว้างขวางขึ้น เมื่อกลับมารับผิดชอบโรงเรียนนี้ จึงสานต่อจนเกิดความสำเร็จด้วยความมั่นใจและเต็มใจ”
ต่อมาความเรื่องโรงเรียนคุณธรรม “บางมูลนากโมเดล” ทราบถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้ทรงมีพระเมตตาพระราชทานทุนทรัพย์ให้คณะองคมนตรีนำไปจัดทำโครงการพัฒนา คุณธรรมความดีในโรงเรียนชายขอบอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของ “บางมูลนากโมเดล” เกิดจาก “แบบอย่าง” ของศิษย์เก่า คือ ท่านองคมนตรี เกษม วัฒนชัย และท่านปราโมทย์ โชติมงคล ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากคุณธรรมความดี และมีความมุ่งมั่น เอาใจใส่ ทุ่มเทให้การสนับสนุน ทั้งพลังกาย พลังใจ และพลังความคิด จนเกิดผลสัมฤทธิ์ ประกอบกับ ผู้รับผิดชอบโครงการตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนไปจนถึงครูที่รับผิดชอบ โครงการ เป็นคนท้องถิ่นและศิษย์เก่าที่ปรารถนาจะเห็นโรงเรียนของตน มีชื่อเสียงในด้านคุณธรรมความดี จึงเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้สิ่งที่ดีงามนี้เกิดขึ้น
นอกจากนั้น ความเชื่อที่ว่า “สร้างคนดีแล้ว คนเก่งจะตามมา” ได้เกิดผลเชิงประจักษ์จากสถิติการศึกษาต่อของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาดี ขึ้นมาก จึงทำให้ทุกคนมีกำลังใจในการดำเนินโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง ๔ ปี และจะดำเนินการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า ความสำเร็จของการสร้างโรงเรียนคุณธรรมครั้งนี้ มิได้เกิดขึ้นจากกระบวนการเพียงอย่างเดียวแต่เกิดจากพลังของคน “รักบ้านเกิด” และ “แบบอย่าง” คุณงามความดี ตลอดจนความมุ่งมั่นของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เป็นปัจจัยผลักดันให้การสร้างคุณธรรมความดีในองค์กรเกิดผลสัมฤทธิ์ ดังนั้น ก่อนที่จะนำ “บางมูลนากโมเดล” นี้ไปใช้ ต้องทดสอบ “ความพร้อมของตัวผู้นำ” ก่อนครับ
เขียนให้ “โพสต์ทูเดย์”
๘ ธ.ค.๕๗