ค้นหาบทความ

ภป ลดถุงไฟป่าโควิดสังคมไทย 1024x500

      แต่ละปีศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จะมีการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านคุณธรรมในสังคมไทย ซึ่งเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ประเด็นด้านคุณธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งด้านบวกและด้านลบจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น งานวิจัย หนังสือ ข่าว โพล

     ในส่วนของข่าวที่เกิดขึ้นในปี 2563 ทีมงานได้เริ่มสืบค้นข้อมูลช่วง 4 เดือนแรกของปี (มกราคม-เมษายน 2563) มีข้อมูลที่สะท้อนถึงการรับมือความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคมไทยที่น่าสนใจ จึงนำบางส่วนมานำเสนอในบทความนี้

     เริ่มจากการรณรงค์เรื่องดีๆ ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการเริ่มแคมเปญเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยภาคธุรกิจ เอกชน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกทั่วประเทศงดแจกถุงพลาสติก ซึ่งคนในสังคมส่วนใหญ่ให้การตอบรับกับการรณรงค์นี้เป็นอย่างดี มีการเตรียมถุงผ้าของตนเองมาใส่สินค้า และยังได้กลายเป็นกระแสสังคมในสื่อสังคมออนไลน์จากการการติดแฮชแท็ก #1มกราบอกลาถุง ที่กลายเป็นเทรนด์ยอดนิยม

     กุมภาพันธ์-เมษายน 2563 สถานการณ์ไฟป่าทวีความรุนแรงมากขึ้นและกระจายตัวในหลายพื้นที่ ซึ่งท่ามกลางวิกฤตนี้มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คืออาสาสมัครที่รวมตัวกันช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่าในหลายรูปแบบ เช่น “กลุ่มสายใต้ออกรถ” กลุ่มอาสาสมัครจากคนในวงการร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ ที่รวมตัวกันระดมทุน ของใช้และอาหารสนับสนุนทีมดับไฟป่า การที่คนทั่วประเทศช่วยกันส่งสิ่งของบริจาค ทั้งยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นสนับสนุนการทำงานของสัตวแพทย์ที่ดูแลรักษาสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ โครงการอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานเรื่องไฟป่าร่วมกับชาวบ้านและหลากหลายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ในรูปแบบของการสนับสนุนทีมดับไฟของภาครัฐ นำอาสาสมัครไปร่วมดับไฟป่าและสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟให้กับชุมชน

     สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 เริ่มมีผลกระทบกับสังคมไทยตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา โดยข่าวที่ปรากฏในช่วงต้นเดือน สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อการระบาด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการกักตุนหน้ากากอนามัยไปจนถึงการ “รีไซเคิล” หน้ากากอนามัยใช้แล้วเพื่อนำมาขายต่อ ความขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่เกิดขึ้นทำให้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีการรวมตัวของอาสาสมัครหลายกลุ่มที่รวมตัวกันทำหน้ากากผ้าสำหรับแจกจ่าย ซึ่งมีตั้งแต่พระสงฆ์ ภาคประชาชน ภาครัฐ ไปจนถึงภาคธุรกิจ เช่น บริษัทตัดเย็บชุดนักเรียน บริษัทตัดเย็บชุดชั้นในที่ใช้ทักษะที่มีในระบบผลิตเดิมมาปรับเปลี่ยนเย็บหน้ากากผ้าแจกให้กับคนทั่วไป

     การระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มความเข้มข้นช่วงปลายเดือนมีนาคม นำไปสู่การที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 25 มีนาคม 2563 ตามมาด้วยการประกาศยกเลิกวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งการรณรงค์อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด

ซึ่งคนในสังคมไทยก็ดำเนินการตามมาตรการนี้กันอย่างจริงจัง

 

     เมื่อสังคมไทยเริ่ม “ตั้งหลัก” กับการระบาดได้ระยะหนึ่ง ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ก็มีการรวมกลุ่มที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจบุคลากรด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นกำลังหลักในการรับมือกับการระบาดครั้งนี้ ทั้งการระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ การแต่งเพลงเพื่อขับร้องสร้างกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนในสังคมไทย

     เดือนเมษายน แม้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในไทยจะเพิ่มขึ้นไม่สูงมากนัก แต่ก็มีผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ขอบเขตของการช่วยเหลือกันในสังคมไทยแผ่ขยายออกมายังกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น แจกอาหาร แจกสิ่งของ อีกทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการช่วยเหลือกันของผู้คนประเทศต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่น “ตู้ปันสุข” ที่นำตู้มาตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแบ่งปันอาหาร ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากโครงการ Little Free Pantry ในต่างประเทศ ที่ปรับเปลี่ยนตู้หนังสือปันกันอ่านที่อยู่ในชุมชนให้กลายเป็นตู้เสบียงสำหรับคนที่เดือดร้อนจากโควิด-19

     จากปรากฏการณ์ข้างต้น จะเห็นถึงจุดร่วมที่เป็นจุดแข็งของคนในสังคมไทยในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงด้านบวกหรือด้านลบ เช่น ในกรณีของการลดใช้ถุงพลาสติก สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเป็นความเปลี่ยนแปลงในด้านบวกที่เกิดประโยชน์ร่วม คนในสังคมก็พร้อมให้ความร่วมมือ และเมื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงในด้านลบ เช่น ในกรณีของไฟป่า และ โควิด-19 คนในสังคมไทยก็สามารถปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อวิกฤต มาเป็นพลังในเชิงสร้างสรรค์ คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามเงื่อนไขที่ตนเองสามารถกระทำได้

     การช่วยเหลือกันของเพื่อนมนุษย์จึงเป็นคุณค่าร่วมที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งคุณค่านี้จะสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมยามที่สังคมเผชิญกับสภาวะไม่ปกติ เช่น กรณีของไฟป่า หรือโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งความท้าทายที่เป็นโจทย์ร่วมที่ต้องคิดกันต่อไป คือมีวิธีการใดที่จะหล่อเลี้ยงคุณค่านี้ให้ดำรงอยู่จนกลายเป็น “ความปกติใหม่” ของสังคมไทยได้ต่อไป

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

Credit : https://www.matichon.co.th/article/news_2207373

ค้นหาหนังสือ