เมื่อโควิด-19 ยังไม่หายไปแล้วจะอยู่กันอย่างไร คำถามนี้คือภาพรวมของสถานการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ประมวลจากข่าวที่เกิดขึ้น เพื่อประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านคุณธรรมในสังคมไทย ประจำปี 2563
บทความก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ได้นำเสนอประเด็นสำคัญ 4 เดือนแรกของปี (มกราคม-เมษายน 2563) ซึ่งพบว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบกับสังคมไทย และมีประเด็นเกี่ยวเนื่องตามมาอีกมากมาย
ผลจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนสังคมอย่างต่อเนื่อง และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดของภาครัฐ ทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยไม่รุนแรงมากนัก ทำให้ตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา แนวทางของภาครัฐเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น เช่น การอนุญาตให้ร้านค้ากลับมาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเปิดร้านตัดผม การเปิดสวนสาธารณะ
ขณะเดียวกันในเรื่องวิถีชีวิตก็มี “ความปกติใหม่” เกิดขึ้น เช่น กลุ่มเด็กนักเรียนที่ต้องปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีความท้าทายทั้งในเชิงเทคโนโลยีที่ต้องเผชิญ เช่น เว็บไซต์ล่ม และบรรยากาศการเรียนการสอนที่ต่างไปจากการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ เช่น การจดตามเนื้อหาไม่ทัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมมาก จนทำให้แฮชแท็ก #เรียนออนไลน์ ขึ้นอันดับ 1 ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อ 18 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่จัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้
เมื่อมาถึงเดือนมิถุนายน 2563 ผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ได้อยู่ที่การเจ็บป่วยของประชาชนโดยตรง แต่เริ่มส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการเดินทาง รวมทั้งธุรกิจส่งออก เช่น ธุรกิจปางช้างที่ต้องขอรับการบริจาคเงินเพื่อดูแลช้าง การเลิกกิจการของสายการบินราคาประหยัดที่เป็นการร่วมทุนระหว่างสายการบินของไทยและสิงคโปร์ การปิดโรงงานผลิตชุดชั้นในสตรีในจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้พนักงานประมาณ 400 คนถูกเลิกจ้าง และในประเด็นการรับมือกับโควิด-19 หลังจากสังคมไทยผ่านการระบาดมาครึ่งปี ก็มีผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 จำนวนรวม 300 คน ร่วมเป็นอาสาสมัครบริจาคพลาสมาให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อไป
เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นช่วงที่มาตรการควบคุมผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดเรียนของสถานศึกษาในระดับต่างๆ การเปิดสถานบันเทิง การเปิดให้ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครึ่งปีที่ผ่านมาภายใต้มาตรการควบคุม และการมีวินัยของคนในสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เมื่อเกิดข่าวหรือประเด็นที่สุ่มเสี่ยงนำไปสู่การระบาดรอบ 2 กระแสสังคมจึงกดดันหรือแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างชัดเจน เช่น การที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไม่สวมหน้ากากอนามัยร่วมงานวันชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ในเวลาต่อมาต้องออกมาขอโทษต่อสังคม หรือชาวต่างชาติที่เดินทางมาในไทยแล้วตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะในกรณีของทหารอียิปต์ที่แวะพักในจังหวัดระยองระหว่างปฏิบัติภารกิจ ครอบครัวนักการทูตที่พักในคอนโดที่กรุงเทพฯ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
การระบาดของโควิด-19 ในไทยที่ไม่รุนแรง สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีต้นทุนในเรื่องวินัย และจากการสำรวจที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพลสำรวจ ช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ในประเด็นที่ว่าคุณธรรมด้านใดที่ทำให้ประชาชนคนไทยรอดพ้นโควิด-19 ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยผลจากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 3,010 ตัวอย่าง พบว่าอันดับ 1 คือความมีวินัย 66.3% ตามมาด้วยอันดับ 2 ความรับผิดชอบ 49.3% อันดับ 3 ความพอเพียง 38.0% อันดับ 4 ความมีน้ำใจ 34.9% และอันดับ 5 ความสามัคคี 34.6%
อย่างไรก็ตาม วินัยที่เป็นหัวใจในการรับมือกับโควิด-19 นั้น ไม่ใช่วินัยในเชิงบังคับหรือสั่งการ แต่เกิดจากคนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นปัญหาและร่วมแรงร่วมใจกันรักษาวินัย ทั้งต่อตนเอง และต่อสังคม ซึ่งความมีวินัยของคนในสังคมอาจถูกสั่นคลอนหรือถูกตั้งคำถามได้ เมื่อมีการยกเว้นให้กับคนบางกลุ่มหรือบางกรณี
ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมวินัยในสังคมจึงต้องเป็นวินัยเชิงบวกที่ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญและเกิดการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจบังคับหรือสั่งการ และที่สำคัญวินัยนั้นต้องมีความเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ กระบวนการส่งเสริมวินัยจึงจะเกิดผลและยั่งยืน
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat