จากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับภาคธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อกว่า 43 แห่ง เร่งหามาตรการและแนวทางในการขับเคลื่อนการงดแจกถุงพลาสติก ต่อยอดจากการรณรงค์กิจกรรมงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันที่ 4 ของทุกเดือน ซึ่งใน 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มกิจกรรมฯ (21 กรกฎาคม 2561 – 31 สิงหาคม 2562) สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้กว่า 2,000 ล้านใบ หรือประมาณ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทนั้น นำมาสู่มาตรการงดแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าแบบถาวร โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งมีร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าหลายแห่งให้ความร่วมมือ แม้ในช่วงแรกจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง ถึงการความไม่สะดวกจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อที่ผลักภาระมาให้ผู้บริโภค แต่เมื่อมาตรการนี้ดำเนินการมาระยะหนึ่งก็เห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพกถุงผ้าแทนการรับถุงพลาสติก จนกลายเป็นความเคยชิน
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โควิด-19 เริ่มเข้ามาระบาดในประเทศไทยและสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เพื่อควบคุมโรคระบาดตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา โดยมีข้อกำหนดต่าง ๆ ตามมาหลายอย่าง เช่น การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และการประกาศเคอร์ฟิว
จากสถานการณ์ที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีการใช้บริการ "เดลิเวอรี" สั่งสินค้าและอาหารมากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านขยะขึ้นอีกครั้ง โดยในช่วงสองเดือนนี้ มีปริมาณขยะที่มากขึ้น โดยจากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและสั่งปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรคนั้น ปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบริการรับส่งอาหาร (food delivery) เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ถึง 15% คือจากวันละ 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ประกอบด้วยถุงพลาสติก กล่องพลาสติก และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม ไม้จิ้ม เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป เช่น นั่งรับประทานอาหารที่ร้านไม่ได้ ใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับบ้านมากขึ้น จึงมีการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านมากขึ้น ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับแนวทางลดขยะจากอาหารเดลิเวอรี ทำได้หลายวิธี โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าทางร้านอาหารที่ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีไม่ควรบริการช้อนส้อมพลาสติกให้ลูกค้า จะเป็นการเพิ่มขยะพลาสติกโดยไม่จำเป็น เพราะที่บ้านก็มีช้อนตัวเองอยู่แล้ว ในระยะต่อไปต้องมองระบบจัดการขยะอาหารเดลิเวอรี เพราะธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สร้างขยะต่อวันมากขึ้น ผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการความสะดวกสบายและอยู่กับโลกออนไลน์ หลังวิกฤตโควิด-19 ต้องมาหาแนวทางร่วมกัน นอกจากส่งอาหารแล้ว ต้องรับคืนบรรจุภัณฑ์ด้วย นี่คือ โอกาสลดขยะพลาสติก รวมถึงร้านควรปรับเปลี่ยนใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดี โดยหลังจากวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลได้มีการผ่อนปรนรอบแรกให้ธุรกิจบางประเภทรวมถึงร้านอาหารบางประเภทที่มีลักษณะตรงตามที่รัฐระบุ กลับมาเปิดให้บริการและนั่งกินที่ร้านได้ควบคู่ไปกับการซื้อกลับบ้าน ทำให้ผู้คนกลับไปยังร้านอาหารที่ตัวเองนึกถึง และดำเนินชีวิตตามปกติมากขึ้น หลังจากที่ต้องพึ่งพาอาศัยบริการเดลิเวอรีอยู่เป็นเดือน แต่ก็ยังมีประชาชนหลายคนเลือกใช้บริการเดลิเวอรีจำนวนมาก เพราะได้รับความสะดวกสบายกว่า และอาจจะกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ของใครหลายคนไปแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เราในฐานะผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค จะมีวิธีใดบ้างที่จะสามารถลดปริมาณขยะจากการใช้บริการอาหารเดลิเวอรีได้ ซึ่งการทำให้ผู้บริโภคอาหารเดลิเวอรีลดขยะพลาสติกน่าจะเป็นความท้าทายมากขึ้นในยุคโควิด-19 โดยในฝั่งของแพลตฟอร์มสั่งอาหารมีความพยายามในการลดปัญหานี้ เช่น การมีตัวเลือกในการสั่งอาหารที่ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ซึ่งในระยะยาวก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าความพยายามเหล่านี้จะสามารถลดขยะได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางตลาดของอาหารเดลิเวอรี ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
ภูริชยา ภูวญาณ
ข้อมูลจากระบบรายงานข่าวสถานการณ์คุณธรรม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)