ค้นหาบทความ

S  3203083

 

          ช่วงเดือนตุลาคม 2564 หลายจังหวัดต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เนื่องจากพายุเตี้ยนหมู่ที่เคลื่อนเข้าประเทศไทย เมื่อ 24 กันยายน 2564 ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำหลายแห่งในหลายภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบถึง 31 จังหวัด

          สถานการณ์น้ำท่วมซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยที่ยังไม่คลี่คลาย ร้านค้าหลายร้านต้องปิดกิจการชั่วคราว หลายบ้านยกของขึ้นที่สูงไม่ทัน ทำให้ข้าวของเสียหาย ตลอดจนไร่นาของเกษตรกรที่อยู่ในช่วงเตรียมเก็บเกี่ยวประสบความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง

          แต่ในขณะเดียวกันจากภาพของความเดือนร้อนดังกล่าว เราได้เห็นอีกแง่มุมจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ “พลังของจิตอาสา” ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ และลงพื้นที่ช่วยเหลือโดยตรง และเป็นจิตอาสาที่มาจากหลากหลายภาคส่วน เช่น ภาคประชาชน กลุ่มจิตอาสา ผู้มีชื่อเสียง องค์กรภาคเอกชน และองค์กรภาครัฐ

  • ภาคประชาชน เช่น
    • ประชาชนทั่วไป ส่งสิ่งของไปบริจาคยังศูนย์รับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยประจำจังหวัด
    • การรวมกลุ่มของประชาชนทำอาหารกล่อง เพื่อแจกจ่ายไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
  • กลุ่มจิตอาสา เช่น
    • ชมรมฮักเขาใหญ่และหอการค้าไทยจังหวัดนครราชสีมา ช่วยอพยพชาวบ้าน ขนย้ายสิ่งของ และมอบถุงยังชีพ ที่จังหวัดนครราชสีมา
    • ทีมร่มบินสุโขทัยขึ้นบินเพื่อส่งอาหารให้ชาวบ้านที่บ้านถูกน้ำท่วมสูงจนติดเกาะ ที่จังหวัดสุโขทัย
    • ฮุก 31 นำถุงยังชีพไปให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และช่วยอพยพข้าวของที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ
    • เพจ care (จิตอาสา แคร์) พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้ป่วย หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม โดยสามารถปักหมุดเพื่อขอความช่วยเหลือได้ โดยมีทีมอาสากว่า 10,000 คนคอยติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา
    • มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดทำโรงครัวเคลื่อนที่ประกอบอาหารปรุงสุกพร้อมทานแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ที่จังหวัดนครรราชสีมา
  • ผู้มีชื่อเสียง เช่น
    • ก้อง ห้วยไร่ ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยขับเรือนำอาหารไปส่งบ้านที่น้ำท่วม จังหวัดชัยภูมิ
    • ตุ๊ก วิยะดาและเกล ดีล่า จัดคอนเสิร์ตออนไลน์เพื่อรับเงินบริจาคช่วยน้ำท่วม รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายนำไปช่วยเหลือโรงพยาบาลบําเหน็จณรงค์ ที่จังหวัดชัยภูมิ มีศิลปิน/นักแสดงรับเชิญมาช่วยงานมากกว่า 30 คน
    • กบ ปภัสรา เตชะไพบูลย์ นำทีมดาราจิตอาสา ลงเรือแจกถุงยังชีพให้กับชาวบ้านหมู่บ้านบางหลวงเอียง ทุ่งป่าโมกข์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    • พระมหาสมปอง นำถุงยังชีพไปให้ชาวบ้านจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสุพรรณบุรี
    • พระมหาไพวัลย์ นำถุงยังชีพไปให้ชาวบ้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    • หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต วัดเขาตาเงาะอุดมพร นำถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องปรุงรส และน้ำดื่มแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดชัยภูมิ
  • องค์กรภาคเอกชน เช่น
    • ช่อง 3 ส่งมอบถุงยังชีพจากเงินบริจาคของประชาชนผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ไปช่วยเหลือชาวบ้าน ที่จังหวัดสิงห์บุรี
    • สิงห์อาสานำถุงยังชีพไปช่วยเหลือชาวบ้าน ที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ
    • ทรู คอร์เปอร์เรชั่น ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม ตำบลบางบาล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนำทีมวิศวกร ช่าง และจิตอาสาของทรู ลงพื้นที่ขับเจ็ทสกีและเรือเร็ว เข้าดูแลซ่อมแซมโมเด็มเราเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารที่บ้าน เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และมอบถุงยังชีพ
    • บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ลงพื้นที่ตำบลไผ่หลิ่ว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ส่งมอบถุงยังชีพ ในโครงการ "CPF ส่งอาหารจากใจ สู้ภัยน้ำท่วม" เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ชาวชุมชนผู้ประสบอุทกภัย
  • องค์กรภาครัฐ เช่น
    • กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี สนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ในสังกัดช่วยขนย้ายสิ่งของผู้ประสบภัยน้ำท่วม
    • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งศูนย์ Fix it Center จิตอาสา ให้บริการด้านการขนย้ายสิ่งของ การตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วมถึง และการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อาหารกล่อง น้ำดื่มเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน และศูนย์ Fix it Center จิตอาสาจะดำเนินการให้บริการ ซ่อมเครื่องใช้อุปกรณ์สิ่งของภายในบ้าน ซ่อมรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ทางการเกษตร ฯลฯ
    • สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแต่ละจังหวัด เปิดให้บริการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยให้บริการตรวจเช็คและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหาย
    • ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำถุงยังชีพไปบริจาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
    • สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดทำถุงยังชีพและนำไปบริจาคชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    • ตำรวจทางหลวงจังหวัดนครราชสีมา สนับสนุนกำลังช่วยอพยพขนย้ายสิ่งของ และมอบถุงยังชีพประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
    • กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ให้ความอนุเคราะห์รถหกล้อยกสูง ในการนำรถเข้าพื้นที่ที่น้ำท่วมสูง ที่จังหวัดชัยภูมิ

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพลังจิตอาสาเท่านั้น ยังมีกลุ่มและองค์กรอีกหลากหลายภาคส่วนที่ร่วมกันช่วยเหลือในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนถึงทุนความดีเรื่องจิตอาสาที่อยู่ในจิตใจของคนในสังคมไทยและสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมเมื่อสังคมเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย

 


เรียบเรียงโดย: ภูริชยา ภูวญาณ กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย

ที่มา : ระบบรายงานสถานการณ์คุณธรรม (E-monitoring) ศูนย์คุณธรรม

https://thestandard.co/flood-2021/

https://www.prachachat.net/education/news-769979

https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9640000099651

https://www.komchadluek.net/news/488961

https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/966617

https://siamrath.co.th/n/289771

https://www.jitasa.care

https://www.ejan.co

https://ch3plus.com/news/program

https://www.facebook.com/chaiyaphumMEEDEE

https://www.facebook.com/chaiyaphumtown

https://www.moralcenter.or.th

https://www.facebook.com/MorningNewsTV3

https://ch3plus.com/news/program

 

 

ค้นหาหนังสือ