ค้นหาบทความ

S  3203083

 

         บนพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งทางภาษา และวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยกะเหรี่ยง ยังมีอีกหนึ่งโรงเรียนชายขอบ พื้นที่ตั้งอยู่บริเวณหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ในเขตจังหวัดราชบุรีติดกับชายแดนระหว่างไทย-พม่า ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านตะโกล่าง” ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเด็กๆ ที่ความแตกต่างทั้งทางชาติพันธุ์
ต่างภาษา แต่มียังการขับเคลื่อนการสร้างคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง

 

โรงเรียนบ้านตะโกล่าง” เป็นโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา รุ่นที่ 1 ในโครงการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมอบหมายให้คณะองคมนตรีดำเนินการโครงการกองทุนการศึกษา ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงรับพระราชกรณียกิจ สืบสาน ต่อยอด โดยได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนคุณธรรมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในปี 2556 และมีกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมผ่านโครงการ “เยาวชนคนดี ศรีตะโกล่าง” โดยเน้นขับเคลื่อนคุณธรรมหลักๆ ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และความมีจิตอาสา ผ่านโครงงานต่างๆ เช่น กิจกรรมจิตอาสาพาสะอาด กิจกรรมธนาคารขยะ กิจกรรมสร้างรอยยิ้มให้ชุมชน กิจกรรมสุขาน่าใช้ กิจกรรมธนาคารความดี กิจกรรมเด็กเล่นขายของ และกิจกรรมโครงงานประจำห้อง เป็นต้น ซึ่งมีกระบวนการสร้างแกนนำครู นักเรียน สร้างการมีส่วนร่วม ที่ช่วยกันร่วมคิดร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมประเมิน มีการสร้างทีม สร้างเด็ก และครูต้นแบบ รวมทั้งร่วมกันถอดบทเรียน และประเมินวัดผล จนเกิดผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน และเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นได้มาศึกษาดูงาน

 

644330          644334

 

แม้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ก็ยังมีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นวิถีชีวิตของคุณครูที่นี่ไปแล้ว ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น สานต่อและสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ที่จะฝึกฝนเด็กใน
ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทักษะชีวิต วิชาชีพ การตัดผม การปลูกผัก การทำจิตอาสาพัฒนาชุมชน และสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากที่นี่ คือ ความรักของครูที่มีต่อเด็กๆ ความพยายามสอนสั่งลูกศิษย์ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ได้มีความรู้ และมีวิชาติดตัว

 

 259865778 630038281769662 5493606781961941134 n          260640344 421114856148773 7085710599489163053 n (1)

 

เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในประเทศไทย โรงเรียนก็มีการปรับการเรียนการสอนใหม่ คือ “การจัดการเรียนการสอนตามหย่อมบ้าน” โดยส่งครูออกไปสอนเด็กนักเรียนตามหย่อมบ้านต่างๆ ในลักษณะคละชั้นเรียน เน้นการสอนกลุ่มสาระหลัก 4 วิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังไม่เข้าถึง ความไม่พร้อมของบางบ้านในเรื่องของอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนทางระบบออนไลน์ ขณะเดียวกันก็เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ควบคู่กันไป แต่ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้กิจกรรมโครงงานดังกล่าวต้องหยุดลง ซึ่งคณะผู้บริหาร และคุณครู ก็ยังวางแผนที่จะขับเคลื่อนส่งเสริมคุณธรรมให้กับเด็กๆ ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

 

644336

 

อาจกล่าวได้ว่า เมื่อมีการจัดระบบ วางรากฐาน มาอย่างดีแล้ว บวกกับความศัทธา ความตั้งใจ ที่อยากจะให้เด็กนักเรียนมีคุณธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะได้ลองผิด ลองถูก มาหลายครั้งหลายครา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือภาพของการขับเคลื่อนสร้างสังคมคุณธรรมที่เกิดจากโรงเรียน จับมือกับ ชุมชน ครอบครัว โดยมีคณะครู (เรือจ้าง) ในย่านชายขอบ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมแห่งนี้ ซึ่งแม้จะอยู่ท่ามกลางหุบเขา แต่ก็ยังคงความเป็นพื้นที่ของ “คนดี ศรีตะโกล่าง”

 


สาริณี ถูกจิตร 
เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรและเผยแพร่ชำนาญการ
15 พฤศจิกายน 2564

 

ค้นหาหนังสือ