ค้นหาบทความ

 

ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานกือบทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เนื่องจากช่วงปลายปีสภาพอากาศนิ่ง และสภาวะลมอ่อน ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นสะสม โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ (7-8 ธันวาคม 2564) พบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน คือ ในเขตหนองแขม กรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนครปฐม ภาคเหนือ คือ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร ภาคกลางและตะวันตก คือ จังหวัดสระบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสุพรรณบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดนครพนม ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

 

จากสถานการณ์ค่าฝุ่นข้างต้นทำให้ประเทศไทยมีค่าฝุ่นพุ่งติดอันดับ 14 ของโลก และจากการคาดการณ์ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ และประชาชนต่างก็มีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านการสำรวจประเด็นความกังวลเกี่ยวกับ PM 2.5 โดยกรมอนามัย ที่พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 79 กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของเด็กในระยะยาว ทำให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรง รวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงทำให้สถานการณ์โควิด-19 รุนแรงมากขึ้น และสาเหตุการเกิด PM2.5 ร้อยละ 87 คิดว่ามาจากการจราจร รองลงมา คือการเผาขยะ การเผาพื้นที่การเกษตร และโรงงานอุตสากรรม

 

สำหรับข้อมูลข่าวในระบบรายงานสถานการณ์คุณธรรม ของศูนย์คุณธรรม (E-monitoring) เดือนธันวาคม 2564 มีสถานการณ์ของฝุ่น PM2.5 ดังนี้

  • จังหวัดพิษณุโลก ค่าฝุ่น PM 5 สูงเกินมาตรฐาน จนประชาชนสามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นที่เป็นมลพิษ ส่วนสาเหตุของการเกิดฝุ่น เกิดจากปัญหาการเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง รวมถึงการเกิดไฟป่า และมลพิษจากยานพาหนะ
  • จังหวัดกาฬสินธุ์ พบชาวบ้านลักลอกเผาตอซังข้าวหลายพื้นที่ โดยสันนิษฐานว่าชาวบ้านเร่งปรับพื้นที่ไร่นารอเขื่อนส่งน้ำมาตามคลองชลประทาน เพื่อจะเร่งทำการปลูกข้าวนาปรัง
  • จังหวัดนครราชสีมา ชาวนาลักลอบจุดไฟเผาตอซังข้าว ฝ่าฝืนคำสั่งอำเภอพิมาย ที่ออกประกาศแจ้งเตือนเกษตรกรไปแล้ว
  • จังหวัดลำพูน จับลุงวัย 62 ปี ลักลอบจุดไฟเผาป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ธิ

 

และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

  • การแก้ปัญหาเบื้องต้น หลายจังหวัดจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ลดฝุ่น PM 5 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันออกมาทำความสะอาด ระดมฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่น
  • ระดับนโยบาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานเพื่อรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ 1) รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 2) แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 3) แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองไม่ให้สูงเกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อประชาชน และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองบรรจุในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด
  • ระดับปฏิบัติการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิง และเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่า พร้อมสร้างเครือข่ายและอาสาสมัคร สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม

 

การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดผลต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบหลากหลายภาคส่วน ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ รวมทั้งการให้ความรู้ต่อประชาชนเรื่องการลดการเผาช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว และถ้าพิจารณาในระดับพฤติกรรมแล้ว การแก้ปัญหานี้จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนเมื่อคนในสังคมเกิดจิตสำนึกสาธารณะ
ที่ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และช่วยกันดูแลรักษา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

 

เรียบเรียงโดย: ภูริชยา ภูวญาณ กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย

ที่มา : ระบบรายงานสถานการณ์คุณธรรม (E-monitoring) ศูนย์คุณธรรม


 

ค้นหาหนังสือ