การพัฒนาประเทศในทุกมิติล้วนขับเคลื่อนเบื้องหลังด้วยผู้คน การพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และมีพฤตินิสัยที่ดี จึงเป็นเรื่องสำคัญ กระบวนการพัฒนาจำเป็นต้องเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเป็นวัยที่มีพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการดำเนินชีวิตเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ดี (Human Ecosystem) ที่ช่วยหล่อหลอมทัศนคติและพฤตินิสัยเชิงบวก ดังที่ยูริ บรอนเฟน เบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้อธิบายไว้ว่า สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเติบโตและพัฒนาการของเด็ก พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากการปฏิสัมพันธ์กับสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ภายใต้ระบบที่ซับซ้อน มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตั้งแต่เกิดในครอบครัว ศึกษาเล่าเรียน ทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนหมู่มากในระดับชุมชน (Bronfenbrenner, U, 1994) ระบบนิเวศที่ใกล้ชิดและสำคัญกับเด็กมากที่สุดก็คือ ครอบครัว ซึ่งทำหน้าที่เลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ และถ่ายทอดทักษะพื้นฐานในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ ยังมีระบบนิเวศอื่น ๆ ที่เป็นตัวหนุนเสริมที่ดี คือ สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน กลุ่มเพื่อน และชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ ระบบนิเวศเหล่านี้ล้วนเรียกว่าเป็น “ต้นทุนชีวิต” ของเด็ก
ต้นทุนชีวิตหรือทุนชีวิต (Life Assets) จึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม และสติปัญญา เกื้อหนุนให้เติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง สามารถปรับตัวและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้ ต้นทุนชีวิตประกอบไปด้วย 5 พลัง คือ
o พลังตัวตน เป็นการรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง มีความศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเอง ยึดมั่นในความยุติธรรมและความเท่าเทียม มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และมีวินัยในตนเองที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับ
พฤติกรรมเสี่ยง
o พลังครอบครัว เป็นความรัก ความห่วงใย ความเข้าใจ มีปิยวาจาต่อกัน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กัน ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่นและปลอดภัย
o พลังเพื่อนและกิจกรรม เป็นการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา สันทนาการต่าง ๆ
o พลังสร้างปัญญา เป็นความมุ่งมั่นในการเพิ่มพูนปัญญา โดยได้รับการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น
o พลังชุมชน เป็นสภาพของชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน มีปิยวาจาต่อกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่นและปลอดภัย
การสำรวจต้นทุนชีวิตเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ทราบถึงระบบนิเวศของเด็กว่ามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไร เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้อย่างตรงจุด เครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจต้นทุนชีวิตคือ แบบสำรวจต้นทุนชีวิต ซึ่งพัฒนาโดยรองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ประกอบไปด้วยข้อคำถามทั้งหมด 48 ข้อหรือ 48 ตัวชี้วัด ซึ่งให้เด็กสะท้อนทัศนคติที่มีต่อต้นทุนชีวิต 5 พลัง อันเป็นระบบนิเวศของตนเอง
ที่ผ่านมามีการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย อายุระหว่าง 12-18 ปี มาแล้ว 4 ครั้ง โดยทำการสำรวจครั้งแรกปี 2552 ต่อมาในปี 2556 ปี 2562 และล่าสุดปี 2564 ซึ่งมีผลการสำรวจดังนี้
จากผลการสำรวจในรอบ 12 ปี จะเห็นว่าแม้ต้นทุนชีวิตโดยรวมของทุกปีจะผ่านเกณฑ์ แต่ส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง และมีแนวโน้มต่ำลงทุกปี หากพิจารณาเป็นรายพลังจะเห็นว่า
o พลังชุมชนเป็นพลังที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดของทุกปี ซึ่งในปี 2562 และปี 2564 ไม่ผ่านเกณฑ์ ในปี2564 นั้นต่ำลงเหลือเพียง 47.76 เท่านั้น และเมื่อพิจารณาลงลึกถึงตัวชี้วัดทั้ง 8 ข้อ พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ทุกข้อโดย “การได้รับมอบหมายบทบาทหน้าที่ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน” มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียง 38.33เท่านั้น
o ส่วนพลังครอบครัวซึ่งเป็นต้นทุนชีวิตหรือระบบนิเวศที่สำคัญและใกล้ชิดเด็กและเยาวชนมากที่สุดกลับมีแนวโน้มต่ำลงทุกปี จากการสำรวจที่ผ่านมา 3 ครั้งในปี 2552 ปี 2556 และปี 2562 ผ่านเกณฑ์ในระดับดี แต่ในปี 2564 ผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาลงลึกถึงตัวชี้วัดที่น่ากังวลพบว่า “การปรึกษาหารือและขอคำแนะนำจากผู้ปกครองได้อย่างสบายใจไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่” ในปี 2564 ลดต่ำลงเหลือเพียง 57.96 ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์
o สำหรับพลังสร้างปัญญาและพลังเพื่อนและกิจกรรมมีแนวโน้มต่ำลงทุกปีเช่นกัน โดยในปี 2564 พลังสร้างปัญญามีค่าเฉลี่ยลดต่ำลงเหลือเพียง 60.92 และพลังเพื่อนและกิจกรรมมีค่าเฉลี่ยลดต่ำลงเหลือ 62.62 ซึ่งเกือบไม่ผ่านเกณฑ์ เมื่อพิจารณาลงลึกถึงตัวชี้วัดของพลังสร้างปัญญาทั้ง 11 ข้อ พบว่า มีถึง 4 ข้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์ โดย “การสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสื่อต่าง ๆ กับครูเป็นประจำ” มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียง 44.69 ส่วนตัวชี้วัดของพลังเพื่อนและกิจกรรมทั้ง 6 ข้อ พบว่า มี 2 ข้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์ โดย “การร่วมกิจกรรมทางศาสนาเป็นประจำ” มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียง 51.02 เท่านั้น
o ขณะที่พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน ซึ่งเป็นต้นทุนชีวิตภายนอก มีแนวโน้มลดต่ำลงทุกปี แต่พลังตัวตนซึ่งเป็นต้นทุนชีวิตภายใน เป็น Self Esteem หรือความมั่นใจ ความนับถือตนเอง รวมถึงการรับมือกับอารมณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2564 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 70.23 ซึ่งผ่านเกณฑ์ในระดับดี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงลึกถึงตัวชี้วัดทั้ง 15 ข้อพบว่ามี 1 ข้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์คือ “การกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ฉันเชื่อ เช่น กล้าแสดงความคิดเห็นแม้ว่าบางครั้งจะมีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้อื่น” มีค่าเฉลี่ยเพียง 57.71
ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยทั้งในภาพรวมและรายพลังที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มต่ำลงสะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศที่อ่อนแอ จากอดีตที่พลังครอบครัวมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพลังอื่น ๆ แต่ปัจจุบันกลับตกลงไปอยู่อันดับที่ 2 ในขณะที่พลังตัวตนสูงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการสำรวจล่าสุดในปี 2564 ยังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เด็กและเยาวชนมีทัศนคติต่อตนเองดีขึ้นเพราะจำเป็นต้องดูแลตนเองทั้งในด้านสุขภาพและการเรียนออนไลน์ รวมถึงช่วยดูแลครอบครัวทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนเป็นความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้พลังตัวตนจะเพิ่มสูงขึ้น แต่มี 1 ตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์คือ “การกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ฉันเชื่อ เช่น กล้าแสดงความคิดเห็นแม้ว่าบางครั้งจะมีความคิดเห็นแตกต่างจากผู้อื่น” ซึ่งสัมพันธ์กับตัวชี้วัดในพลังครอบครัวที่ได้ค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ “การปรึกษาหารือและขอคำแนะนำจากผู้ปกครองได้อย่างสบายใจไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่” อันสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะการอบรมเลี้ยงดูที่ค่อนข้างกำกับความคิดเห็น ครอบครัวหรือบ้านไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากพอที่จะสามารถพูดคุยปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทั้งนี้ตามพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นมักจะเลือกพูดคุยปรึกษาหารือเรื่องส่วนตัวกับกลุ่มเพื่อนมากกว่าอยู่แล้ว หากครอบครัวยังไม่ให้อิสระไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในความคิดเห็นของเด็ก ก็จะยิ่งทำให้เด็กห่างไกลจากครอบครัวและอาจตัดสินใจบางเรื่องในทางที่ไม่ถูกต้อง
ส่วนพลังสร้างปัญญาและพลังเพื่อนและกิจกรรมที่มีแนวโน้มต่ำลงจนปีล่าสุดเกือบไม่ผ่านเกณฑ์นั้น ก็อาจเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้เด็กและเยาวชนต้องเรียนออนไลน์ ไม่ได้พบปะครูอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ทำกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ จึงทำให้ “การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสื่อต่าง ๆ กับครูเป็นประจำ” และ “การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา” เป็นตัวชี้วัดที่ได้ค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
สำหรับพลังชุมชนที่ส่งสัญญาณความอ่อนแอมาตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว จนกระทั่งล่าสุดในปี 2564 ถึงขั้นโดยรวมและตัวชี้วัดทุกข้อไม่ผ่านเกณฑ์นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างหรือบริบทชุมชนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ผู้คนในชุมชนมีการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน คอยสอดส่องดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ปัจจุบันส่วนใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวแหว่งกลาง ผู้คนไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเหมือนในอดีต แต่ละครอบครัวต้องแบกภาระมากขึ้น บางครอบครัวพ่อแม่จำเป็นต้องไปทำงานไกลบ้านและฝากลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้องช่วยดูแล ข่าวเหตุการณ์อันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนมีมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีหลายอย่างดึงดูดเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนมากนัก ไม่ได้คิดว่าตนเองต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชน ทั้งที่จริงแล้วเด็กและเยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนรุ่นหลัง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมหรือพบปะปฏิสัมพันธ์กันก็ยิ่งทำให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากชุมชนมากยิ่งขึ้น
ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยที่อ่อนแอลงอย่างมากจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งครอบครัว โรงเรียน และนโยบายของรัฐที่ต้องเพิ่มกลไกการทำงานด้านเด็กและเยาวชนระดับพื้นที่ ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมเสริมสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ เป็นอนาคตของชาติต่อไป
เขียนโดย นางสาวลักษิกา เงาะเศษ นักวิชาการส่งเสริมคุณธรรม
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน). (2565). โครงการสำรวจสถานการณ์ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย
(อายุ 12-18 ปี) ประจำปี 2564. กรุงเทพฯ: ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน).
สุริยเดว ทรีปาตี, พรรณนิภา สังข์ทอง และสิริวิมล ศาลาจันทร์. (2553). คู่มือการใช้แบบสำรวจต้นทุนชีวิต.
สมุทรสาคร: โรงพิมพ์แอ๊ปป้า พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด.
Bronfenbrenner, U. (1994). Ecological models of human development. In International
Encyclopedia of Education, Vol.3, 2nd. Ed. Oxford: Elsevier. Reprinted in: Gauvain, M. &
Cole, M. (Eds.), Readings on the development of children, 2nd Ed. (1993, pp.37-43). NY:
Freeman.