ค้นหาบทความ

จิตอาสา “เติมสุขแก่น้องชายแดน ปีที่ 6”

 

นางสาวลักษิกา เงาะเศษ

นักวิชาการ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

 

          คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยส่งเสริมการศึกษาที่มาพร้อมกับความเสมอภาคให้กับประชาชน เช่น ประเทศฟินแลนด์ ที่สร้างสวัสดิการรัฐให้เด็กทุกคนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาเมื่ออายุ 7 ขวบ โดยรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งหมด และทุกโรงเรียนใช้มาตรฐานเดียวกัน

          สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาและมุ่งมั่นปฏิรูประบบการศึกษาเช่นกัน จึงมีกฎหมาย แผน และยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา อาทิ การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสการเข้าถึงการศึกษาแก่ผู้เรียนที่ด้อยโอกาสตามปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 การจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ที่มุ่งเตรียมพร้อมด้านกำลังคนและการเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนในทุกช่วงวัย โดยเน้นเรื่องการพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัย การหล่อหลอมให้คนไทยมีค่านิยมตามบรรทัดฐานที่ดีทางสังคม การพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของคนที่เหมาะสมกับช่วงวัย สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงาน และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามของภาครัฐในการปฏิรูประบบการศึกษาให้เกิดความเสมอภาค แต่ความเป็นจริงแล้วยังพบว่ามีโรงเรียนหรือสถานศึกษาอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังขาดแคลนครูหรือบุคลากรที่มีคุณภาพ ขาดอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะ ความรู้ ความสามารถตามช่วงวัยของเด็ก

          ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนการรวมพลังเครือข่ายทางสังคมเพื่อส่งเสริมคุณธรรมที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ตระหนักถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมจิตอาสา “เติมสุขแก่น้องชายแดน” ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 15 องค์กร ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 2-3 เมษายน 2565 ณ โรงเรียนบ้านวังตะเคียน หมู่ 5 บ้านวังตะเคียน ตำบลวังเย็น อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

          โรงเรียนบ้านวังตะเคียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมทุกระดับชั้นประมาณ 40 กว่าคน สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ ได้แก่ ทีมจิตอาสาประมาณ 40 คน นักเรียน 25 คน ครูและชาวบ้านรวมกว่า 30 คน กิจกรรมประกอบด้วย การซ่อมแซมอาคารเรียนและสนามเด็กเล่น การมอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และทุนการศึกษา การสอนปฐมพยาบาลและสอนดับเพลิงเบื้องต้น

          ผู้เขียนในฐานะบุคลากรของศูนย์คุณธรรม รู้สึกดีใจ ประทับใจ ที่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และคนในชุมชนได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แม้ทุกคนจะสวมหน้ากากอนามัยตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่สามารถรับรู้ถึงความดีใจและรอยยิ้มผ่านดวงตา สำหรับทีมจิตอาสาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกสอนปฐมพยาบาลและสอนดับเพลิงเบื้องต้นให้แก่น้อง ๆ กลุ่มที่สองซ่อมแซมอาคารเรียนและสนามเด็กเล่น ทั้งการทาสีอาคารเรียนและสนามเด็กเล่น BBL (Brain-Based Learning) ส่วนคนในชุมชนช่วยกันจัดเตรียมอาหาร น้ำดื่ม ไว้คอยบริการ สภาพอากาศวันนั้นค่อนข้างดี ฝนไม่ตก อากาศไม่ร้อนอบอ้าว กิจกรรมจึงดำเนินไปอย่างราบรื่นท่ามกลางเสียงหัวเราะของทุกคน

          กิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมพัฒนาการให้แก่น้อง ๆ แล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรศูนย์คุณธรรมในด้านจิตอาสาและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และช่วยอุดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

          ผู้เขียนจึงหวังว่ากิจกรรมจิตอาสาเล็ก ๆ ครั้งนี้จะสามารถเป็นตัวแทน “เสียง” ของน้อง ๆ ส่งผ่านไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ให้หันมาจริงจังกับการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ทุกคนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน ได้อยู่ท่ามกลางระบบนิเวศที่ส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะ ความรู้ ความสามารถเพื่อให้สามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ และเป็น “อนาคตของชาติ” ต่อไป

อ้างอิง

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (2564). รายงานการศึกษาไทย พ.ศ. 2562-2564   (Education in Thailand 2019-2021). กรุงเทพฯ: บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.

บีบีซีไทย. (2561). การศึกษาฟินแลนด์: “ยิ่งประเทศมีความเสมอภาคมากเท่าใด ประชากรก็ยิ่งมีการศึกษา และสุขภาพจิตดีมากขึ้น”. สืบค้น 5 เมษายน 2565, จาก https://www.bbc.com/thai/features-      45698818.

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน). (2562). ฟินแลนด์ แชมป์ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก. สืบค้น     5 เมษายน 2565, จาก https://www.nia.or.th/FinlandEducationSystem.

ค้นหาหนังสือ