…………………………………………………………………………………………………………..
ยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการสำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
ความพยายามในการที่จะเป็นองค์กรคุณธรรรม หรือเป็นชุมชนคุณธรรม เป็นเรื่องที่ดี และควรส่งเสริม เพราะบ้านเมืองเรา ได้ละเลยมิติด้านความดีมานานพอสมควร จนปล่อยให้เกิดปัญหาทางสังคมที่สะสมและรุนแรงมากขึ้น การเกิดแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2565 ขึ้น เป็นเสมือนการหยิบยื่นโอกาสให้กับสังคมไทย ได้ทบทวนเรื่องราวให้คนทำความดีมีพื้นที่ยืน และความดีมีพื้นที่ทางสังคมมากขึ้น สร้างความตื่นตัวขึ้นในสังคมให้ตระหนักในเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับทิศทางการพัฒนาของโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเกิดการพบปะแลกเปลี่ยนของเครือข่ายทางสังคมมากขึ้น เกิดการนำความรู้ที่มีมาโชว์ แชร์ เชื่อมซึ่งกันและกัน ความรู้บางอย่างได้ถูกขยายผลไปอย่างกว้างขวาง ได้รับการยอมรับไปสู่การปฏิบัติ เพื่อนำไปใช้ในการจัดการ แก้ไขปัญหาขององค์กรและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ อาทิ การขยายผลธนาคารความดี การสร้างธรรมนูญสันติสุขหมู่บ้าน การสร้างเศรษฐกิจเพื่ออยู่รอดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 การสร้างตลาดปันสุข การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการสร้าง MORAL CITY หรือเมืองคุณธรรม เป็นต้น
การสร้างองค์กรคุณธรรม และชุมชนคุณธรรมนั้น เป้าหมายสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่การได้รับรางวัล แต่ คือ การสร้างความสุข ความมั่นคง ความอบอุ่น ปลอดภัยร่วมกันของคนในองค์กรและชุมชน โดยใช้หลักความดีมายึดเหนี่ยว เป็นหลักการบริหาร หลักการปฏิบัติ และเป้าหมายผลลัพธ์เชิงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ซึ่งจะส่งผลต่อคนรอบข้าง ผู้เกี่ยวข้องและสังคมส่วนรวม โดยการที่จะสร้างองค์กร หรือชุมชนคุณธรรมได้นั้น จะต้องดำเนินการด้วยหลัก ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
- กำหนดโครงสร้างเชิงระบบ ให้ชัดเจน
คำว่า โครงสร้างเชิงระบบ คือ การตั้งเจตนารมณ์ที่ดี การมีทิศทาง เป้าหมายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของส่วนรวมบนหลักการที่ถูกต้อง และความเป็นไปได้ เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะประกอบด้วย
- โครงสร้างทางความคิด คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินกิจการองค์กรหรือให้ชุมชนเป็นแหล่งที่สร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ที่สังคมก็ได้ ผู้รับบริการหรือสมาชิกก็ได้ และตัวผู้ทำก็ได้ โดยที่ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน สิ่งแวดล้อมเสียหาย เป็นเจตนารมณ์ที่ดีในการบริหารจัดการองค์กร หรือชุมชน ให้เป็นสุข บนพื้นฐานความดีงามร่วมกัน เมื่อเริ่มต้นว่าจะเป็นองค์กร หรือเป็นชุมชนที่ดี จะกำหนดความดีที่ต้องทำ หรือ ปัญหาที่ต้องแก้ได้ตรงจุด เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขร่วมกันได้ชัดเจน
- โครงสร้างเชิงระบบ คือ การออกแบบการบริหารจัดการที่ดีร่วมกัน ได้แก่ การกำหนดแผนงานที่จะทำให้ชัดเจนว่ามีเรื่องใดบ้าง ที่จะต้องทำ ให้บรรลุภายในช่วงเวลาที่กำหนด มีการจัดตั้งกลไกทีมงาน คณะกรรมการ คณะทำงาน ทีมรับผิดชอบให้เกิดการปฏิบัติขับเคลื่อนได้จริง การกำหนดมาตรการ ข้อตกลง เงื่อนไข กติกามารยาทมารองรับร่วมกันเพื่อถือปฏิบัติ เช่น ระเบียบ ข้อตกลงคุณธรรม ปฏิญญาคุณธรรม ธรรมนูญหมู่บ้าน เป็นต้น
- โครงสร้างทางกายภาพ ได้แก่ การออกแบบสถานที่ บรรยากาศ ทำเล Landscape ขององค์กร หรือชุมชนนั้นๆ ให้เอื้อต่อกันแลกัน หรือเอื้อต่อการเรียนรู้ และการทำความดีของสมาชิกในองค์กร เช่น การจัดให้มีศาลาที่ประชุม มุมสงบ มุมออกกำลังกาย ฐานเรียนรู้ ที่พัก จุดแสดงผลงาน นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ โดยมีบรรยากาศที่เหมาะสม
2. กระบวนการปฏิบัติ คือ การดำเนินกิจกรรมขององค์กรหรือของชุมชนนั้นๆ ตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว ให้เป็นวิถี ต่อเนื่อง มีชีวิตชีวา ไม่แปลกแยกจากงานที่ทำอยู่ในวิถีประจำวันขององค์กร หรือวิถีของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ กระบวนการปฏิบัตินั้น สะท้อนว่าได้ทำตามที่ตั้งใจไว้ สอดคล้องกับโครงสร้างที่วางไว้ ในส่วนแรก ซึ่งจะประกอบด้วย
- กระบวนการปฏิบัติในภายใน ได้แก่ การลงมือทำตามแผนงานที่วางไว้ ทำตามกติกา ข้อตกลงหรือธรรมนูญขององค์กรหรือชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ การสรุป ทบทวนสิ่งที่ทำไปร่วมกันว่าได้ผลเพียงใด พอใจหรือไม่ ควรปรับปรุงพัฒนาอย่างไรต่อ และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำความดีร่วมกัน ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการให้รางวัล เบี้ยขยัน โบนัส การชื่นชมยกย่อง และการตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำความดีนั้นต่อเนื่อง และขยายผล
- กระบวนการปฏิบัติต่อภายนอก ได้แก่ การสร้างความร่วมมือกับภาคีภายนอก เพื่อประสานประโยชน์ต่อองค์กรและชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งทางวิชาการ งบประมาณ และโอกาสการพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงการสร้างให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อชุมชน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส หรือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
3. ผลลัพธ์ คือ รูปธรรมปฏิบัติที่เกิดขึ้น ที่สัมผัส หรือจับต้องได้ เป็นความภาคภูมิใจร่วมกัน และเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การให้คนอื่นมาเรียนรู้ นำไปใช้ ขยายผลต่อ ซึ่งผลลัพธ์ในที่นี่ ประกอบด้วย
3.1 พฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมของคนในองค์กรหรือชุมชนนั้นๆ โดยสัมผัสได้เมื่อพบปะ แลกเปลี่ยน มีความเป็นกัลยาณมิตร รอยยิ้ม บ่งบอกถึงความสุข อบอุ่น ปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันเกิดขึ้นมาจากคุณธรรมความพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู หรือจากค่านิยมอื่นๆที่ร่วมกันกำหนดมาแล้ว
- รูปธรรมปฏิบัติที่เห็นและจับต้องได้ เช่น ความร่มรื่น สวยงาม สะอาด มีบรรยากาศที่ดีงาม มีหลักฐานรูปธรรมที่จับต้องได้ อาจจะเป็นรูปแบบตัวบุคคล กลุ่มบุคคล ฐานเรียนรู้ องค์ความรู้ต่างๆ ที่จัดทำในรูปแบบที่สัมผัสได้ หรือความร่วมมือที่ดีต่อกิจกรรมกลางขององค์กรหรือชุมชนนั้นๆ
- การยอมรับ ความไว้เนื้อเชื่อใจจากสังคมภายนอก ซึ่งดูได้จากการที่มีผู้คนสนใจมาศึกษาเรียนรู้ มาเยี่ยมชม มาหาความร่วมมือ การออกสื่อรายการต่างๆ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ดีงาม และการได้รับชื่นชมจากหน่วยงานภายนอกก็ได้
หากเราสามารถสร้างความเป็นองค์กร หรือชุมชนคุณธรรม ขึ้นมาได้มากเพียงใด ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเพียงนั้น เพราะจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพคนของประเทศที่จะมีความเห็นที่ถูกต้อง การแยกแยะสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ ประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ มูลค่าและคุณค่าได้ชัดเจน การปฏิบัติตนตามหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ การรับมือภัยพิบัติหรือโรคอุบัติใหม่ รวมถึงภัยมนุษย์ต่างๆได้ง่ายส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสังคมโลก
ยงจิรายุ อุปเสน
๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕