การส่งเสริมให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมเป็นภารกิจที่ท้าทาย ตั้งแต่นิยามความหมายของคุณธรรม กิจกรรมหรือการกระทำอะไรที่เรียกว่ามีคุณธรรม ในระดับปัจเจกบุคคล คุณธรรมมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของบุคคล เช่น เพศวัย และยังเชื่อมโยงกับระบบนิเวศที่อยู่รายรอบปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางสังคม เช่น ครอบครัว สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ชุมชน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมกระบวนการส่งเสริมคุณธรรมจึงไม่สามารถกำหนดให้มีรูปแบบเดียวที่ตายตัวได้ ในทางตรงกันข้ามกระบวนการ ต้องมีความละเอียดอ่อน เข้าใจในความหลากหลายทั้งของผู้คนและระบบนิเวศที่อยู่รอบตัว
ในกลุ่มสถานศึกษา มหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มหนึ่งที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้ความสำคัญ และต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การส่งเสริมคุณธรรมที่เคยดำเนินการมา ก่อนที่จะวางแผนการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งจากจุดเริ่มนี้นำมาสู่การจัดเสวนาร่วมกันระหว่างศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในหัวข้อ"มหาวิทยาลัยกับอนาคตคุณธรรมของสังคมไทย" เมื่อวันที่ 21มกราคม 2563 ณ ห้องประชุม 18B ชั้น 18 อาคารสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (ตึกใหม่) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การส่งเสริมคุณธรรมระหว่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มหาวิทยาลัย และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) รวมทั้งหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยร่วมกันผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพและคุณธรรม นิสิตนักศึกษา ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการและบุคลากรของศูนย์คุณธรรมการเสวนาช่วงแรกเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่งเสริมคุณธรรมจากมหาวิทยาลัย โดยรูปแบบการดำเนินงานด้านส่งเสริมคุณธรรมของมหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย
1.กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับชุมชน/สังคม (Social engagement) เช่น ฝึกอาชีพผู้พิการการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
2.กิจกรรมทิ่มหาวิทยาลัยดำเนินการภายในมหาวิทยาลัย เช่น การรณรงค์วินัยจราจร การส่งเสริมความสุจริตในการสอบ การพัฒนาผู้นำนิสิต/นักศึกษาการจัดประกวดให้รางวัลกิจกรรมสร้างสรรค์ในแต่ละคณะ ธนาคารความดี
3.การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร เช่นการกำหนดให้มีการลงทะเบียนวิชาบำเพ็ญประโยชน์บัณฑิตอาสา และครอบคลุมไปถึงการพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาที่วัดผลความเปลี่ยนแปลงจากการเรียนการสอน
4.การตั้งศูนย์อาสาสมัครบริหารจัดการงานอาสาสมัครในพื้นที่ ซึ่งบางพื้นที่เป็นกลไกสำคัญในการรับมือกับภัยพิบัติ เช่น ศูนย์อาสาสมัครมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เป็นหน่วยกลางในการประสานความช่วยเหลือในช่วงที่จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่
5.การสร้างเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัย
6.การดำเนินงานเชิงประเด็นสังคม เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Zero waste, PM2.5)
สำหรับข้อเสนอแนะที่มีต่อการพัฒนาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมคุณธรรมของสั่งคมไทย ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม คือต้องนิยามความหมายของคุณธรรมให้ชัดเจน จากนั้นจึงดูว่าชุดคุณธรรมมีอะไรบ้าง ตั้งเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีการไปสู่เป้าหมายไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และต้องรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ "ผู้ใหญ่คิด เด็กทำ" แต่ต้องให้ "เด็กคิด เด็กทำ" ซึ่งจะทำให้เห็นอะไรใหม่ๆ และได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น การเสริมสร้างคุณธรรมต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัว จำเป็นต้องสร้าง "ผู้สร้างที่ดี" เสียก่อน ซึ่งก็คือพ่อแม่ สถาบันครอบครัวแม้จะเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุดเช่นกันในการที่จะสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพ และที่สำคัญควรสร้างกิจกรรมที่ทุกคนสามารถทำให้เป็นกิจวัตรของตนเองได้ "ทำกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร" ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่ทำในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งแล้วจบไปมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสร้างกิจกรรมที่เหมือนกัน เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีอัตลักษณ์ไม่เหมือนกันแต่ควรคิดวิเคราะห์ว่าจะทำอะไรที่ตอบโจทย์เดียวกันได้
มหาวิทยาลัยต่างมีทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน ควรนำทุนทางสังคมนั้นมาใช้ ตั้งเป้าหมายร่วมกันของทุกมหาวิทยาลัยว่าสถานการณ์คุณธรรมด้านใดในสังคมไทยเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข และให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหานั้นกันเอง จากนั้นจึงมีเวทีให้แต่ละมหาวิทยาลัยมาเสวนาร่วมกันว่าได้จัดกิจกรรมใดไปบ้าง และส่งผลอย่างไรกระบวนการเหล่านี้จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ชื่นชมให้กำลังใจกัน เพื่อช่วยกันเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และสำหรับการทำงานร่วมกับชุมชน (Social engagement) ควรจัดให้มีเครือข่ายระดมความคิด
เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ในการทำวิจัย มีศูนย์การวิจัย มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมอยู่แล้ว ควรนำเอามาเสนอร่วมกันออกแบบแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกัน
จากข้อเสนอแนะที่เกิดจากวงเสวนาทำให้เห็นว่าแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมในมหาวิทยาลัยเป็นงานที่เชื่อมโยงกับสถาบันครอบครัว และชุมชน รวมทั้งสังคม โดยรูปแบบการส่งเสริมคุณธรรมควรเป็นกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรคือเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต การส่งเสริมคุณธรรมจึงจะเกิดผลและมีความยั่งยืน ซึ่งในประเด็นการใช้กิจกรรมในการพัฒนาคนนั้น รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้กล่าวไว้ในการบรรยายเรื่อง "Ecology ระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาเด็ก" ในงานแถลงผลการวิจัยและพัฒนาระบบการติดตามสภาพการณ์ปัจจุบัน ภูมิคุ้มกันและปัจจัยบริบทเพื่อลดความต้องการยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงสูง 24 มกราคม 2563 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่า การส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมเป็นการพัฒนาภาวะการนำ (Leadership) โดยกิจกรรมที่จัดนั้นต้องเน้นการมีส่วนร่วม มีการสะท้อนความรู้สึกหลังจัดกิจกรรม (Reflection)
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ คือ การพัฒนา Soft skill เป็นการ "ทำคนให้เป็นคน" และบทบาทของครูยุคใหม่ควรเป็น "ครูแกล้งเด็ก" (Scraffolder) ในความหมายของครูที่รู้จักวิธีสร้างความท้าทาย สร้างเงื่อนไขให้กับเด็กในการแก้ไขปัญหา โดยทำงานเชื่อมโยงกับระบบนิเวศรอบตัวเด็กเช่น ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน
ดังนั้นกิจกรรมจึงเป็นวิธีการส่งเสริมคุณธรรมที่สำคัญโดยควรเป็นกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร คือสอดคล้องกับวิถีีชีวิต และมีการสะท้อนความรู้สึกหลังจัดหรือหลังเข้าดังนั้น กิจกรรมจึงเป็นวิธีการส่งเสริมคุณธรรมที่สำคัญโดยควรเป็นกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร คือสอดคล้องกับวิถีีชีวิต และมีการสะท้อนความรู้สึกหลังจัดหรือหลังเข้ารวมกิจกรรม (Reflection) รวมทั้งควรเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัยให้ทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมกิจกรรมดังกล่าวจึงเป็นกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมที่มีความยั่งยืนและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในระดับบุคคลและสังคม
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์