ค้นหาบทความ

F5CE88A3 A8A3 42A7 9473 4CE92A36ED2C L0 001

 

“สังคมในโลกโซเชียลมีเดีย” ที่นับวันจะอุดมไปด้วยเรื่องดราม่าเกิดขึ้นรายวัน จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกแห่งโซเชียลมีเดียมีทั้งคุณและโทษมหาศาล ทั้งต่อผู้โพสต์และเจ้าของเรื่องราว เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ผู้โพสต์เลือกที่จะบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้นบนโลกโซเชียลฯ มักจะเกิดกระแสตอบกลับที่ไวมาก โดยเฉพาะ “ชาวเน็ต” ก็มักจะขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา เกิดการแชร์ ส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเป็นเรื่องราวดีๆ คงจะถูกยกย่อง ชื่นชม แต่หากเป็นเรื่องไม่ดี ก็สามารถทำร้าย หรือมีกระแสลบตอบกลับทันที หรืออาจถูกแก้ปัญหาให้คลี่คลายไปทิศทางที่ดีขึ้น อยู่ที่ว่าผู้รับสารจะเลือกอ่านหรือเสพเนื้อหาแบบใด หรือมีวิจารณญาณต่อกรณีต่างๆ อย่างไรด้วยเช่นกัน

 

.pic001          pic002

 

วันนี้จึงขอหยิบอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ จากกระแสโซเชียลที่ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2563 ถึงกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ชื่นชมถึงการให้บริการของ 2 พนักงานการรถไฟ ที่ช่วยอุ้มคุณยายของเธอ และหิ้วกระเป๋าสัมภาระลงจากรถไฟไปส่งถึงชานชาลา ที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จนเกิดเป็นกระแสบนโลกโซเชียลฯ โดยมีนายยาการียา มามุ ลูกจ้างพนักงานรถนอน เป็นผู้ที่อุ้มคุณยาย และนายสุกรีย์ สะนิ ช่วยถือกระเป๋าสัมภาระ

.

จากเรื่องราววันนั้นจนถึงวันนี้... เป็นเวลากว่า 2 ปีเศษแล้ว พบว่า นายยาการียา มามุ หรือ “มามุ” ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง “ลูกจ้างพนักงานรถนอน” ขณะที่เพื่อนของเขา นายสุกรีย์ สะนิ ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานไปแล้ว จึงมีโอกาสได้พบปะพูดคุยทำความรู้จักกับ

“มามุ” ถึงเรื่องราวความประทับใจตลอดการทำงานที่การรถไฟมากว่า 10 ปี ในวัย 37 ปีของเขา  

 

.pic005 khaosod

 

ความฝันในวัยเด็กกับเรื่องจริงเมื่อเติบโต  

มามุ เป็นเด็กนราธิวาส แต่เนื่องจากสูญเสียแม่ตั้งแต่อายุเพียง 2 เดือน และพ่อจากไปตอนอายุ 9 ปี จึงอยู่ในความดูแลของพี่สาวคนโตมาโดยตลอด และห้วงเวลานั้นทางหมู่บ้านมีโครงการรับอุปการะเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ มามุจึงได้รับโอกาสนั้น และถูกจัดให้ไปอยู่ที่สถานเด็กกำพร้า จังหวัดยะลา เขาจึงเติบโตและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นั่น

.

แม้ทุนชีวิตอาจไม่สมบูรณ์แบบเหมือนเด็กคนอื่น แต่โอกาสที่ได้รับด้านการศึกษาของมามุนับเป็นโอกาสที่ดีกว่าเด็กหลายคน เมื่ออยู่สถานกำพร้าฯ มามุได้เรียนหนังสือถึงชั้น ป.6 เมื่อจบ ป.6 มีอาจารย์เมตตาช่วยสนับสนุนให้ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา จนกระทั่งจบชั้น ม.6 และหลังจากนั้นมีช่วงเล็กๆ ที่ไปศึกษาต่อที่กระบี่พลศึกษา (เตรียมเป็นครูสอนพละ) แต่ด้วยทางบ้านไม่มีทุนทรัพย์และจังหวะเดียวกันติดเกณฑ์ทหาร จึงได้ไปเป็นทหารเกณฑ์ ระยะเวลา 2 ปี

 

.pic003 khaosod

 

เมื่อปลดประจำการออกมา ประมาณปี 2551 มามุ มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพตั้งใจมาหางานทำ จำได้ว่านั่งรถไฟชั้น 3 มาลงที่หัวลำโพง มาถึงเห็นพี่ รปภ. ก็เลยสอบถามว่าที่นี่เขามีรับสมัครงานอะไรไหม เป็นจังหวะที่ที่นี่เปิดรับสมัค รปภ. พอดี พี่รปภ.จึงพาไปสมัคร “ต้องลองดูสักตั้ง” มามุบอกกับตัวเอง และเขาก็ได้เป็นรปภ.เรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2551 – 2555

.

กระทั่ง ปี 2555 ที่นี่เปิดสอบรับสมัครลูกจ้าง “พนักงานรถนอน”  มามุ จึงลองยื่นสมัครสอบดู และเขาก็ทำสำเร็จ สอบติด และได้เป็นลูกจ้างพนักงานรถนอนจนถึงทุกวันนี้ 10 ปีพอดี สิ่งที่มามุภูมิใจมาก คือ เขาสอบติด ซึ่งตอนนั้นเปิดรับแค่เพียง 2 คน แต่มันไม่ง่ายเลยที่จะไปต่อ เพราะการจะเข้าเป็นพนักงานก็ต้องหาคนมารับรองการทำงาน ซึ่งมามุแทบไม่รู้จักใคร จึงต้องขอให้นายสถานีในช่วงนั้น มาช่วยรับรองการทำงานให้ แต่ตอนนี้ท่านเกษียณอายุไปแล้ว (มามุเล่าด้วยระลึกถึง)

.

“ความฝันตอนเด็กของมามุ คือ อยากทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ เพราะบ้านอยู่ติดกับรางรถไฟ เติบโตมากับรางรถไฟ เห็นรถไฟทุกวัน จึงรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันกับรถไฟเป็นอย่างมาก”

.

ที่สุดของเหตุการณ์ความประทับใจ

ประทับใจสุดๆ ในชีวิตนี้ คงเป็นขบวน 171 ครั้งหนึ่งมีผู้โดยสารหญิงตั้งท้อง 9 เดือน ตอนนั้น เขาปวดท้องจะคลอดลูก มีโอกาสได้ช่วยเหลือเขา ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ตี 1 ครึ่ง รถออกจากสถานีชุมพร มามุเจอผู้โดยสารท่านนี้ ยังแซวกันเล่นๆ ด้วยความห่วงใย ว่าไม่ควรเดินทางช่วงเวลานี้เลยนะ เพราะเห็นว่าท้องโตมากแล้ว และก็จริงด้วย “เขาปวดท้องเหมือนจะคลอดลูก” มามุ รีบประสาน แจ้งไปที่สถานีหน้าซึ่งเป็นสถานีสวี จนรถไฟจอดที่สถานีสวี ก็มีรถพยาบาลมารอรับพอดี ตอนนั้นดีใจมากที่ประสานได้ทันเวลา ส่วนอีกเหตุการณ์ที่ประทับใจรองลงมา ก็คือเคสที่อุ้มคุณยายแล้วมีคนโพสต์และเป็นข่าวบนโซเชียลฯ เพราะไม่คิดว่าจะเป็นข่าวขนาดนี้ คนแถวบ้านก็จะแซวว่าดังใหญ่แล้ว แต่สำหรับมามุ เรื่องแบบนี้เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว บางคนเห็น ก็ถ่ายรูปลงโซเชียล แต่มามุทำ... โดยไม่ต้องมีใครถ่ายรูปก็ได้นะ มามุทำ เพราะอยากทำ และคิดเสมอเลยว่าตัวเองไม่มีโอกาสได้ดูแลพ่อแม่ เพราะท่านเสียตั้งแต่เรายังเด็ก ยิ่งเวลาเห็นผู้โดยสารที่อายุมากๆ ก็จะนึกถึงพวกท่านเสมอ ว่าถ้าท่านยังอยู่จะดูแลไม่ให้ลำบากเลย

.

ภูมิใจกับหน้าที่ความรับผิดชอบแค่ไหน ?

ภูมิใจที่สุดแล้วในชีวิตที่ได้มาทำงานที่การรถไฟ ซึ่งหน้าที่ที่มามุทำ นอกจากการคอยตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆ ว่ามีพร้อม หรือเสียหายไหม ปูที่นอน/ปูเตียง จัดเก็บความเรียบร้อย และสิ่งที่ทำมาเสมอคือช่วยผู้โดยสารยกกระเป๋า จัดกระเป๋าของผู้โดยสาร ซึ่งบางทีผู้โดยสารอาจวางกระเป๋าแล้วเกินพื้นที่ออกมา ก็จะช่วยจัดให้อยู่ในจุดที่เรียบร้อยที่สุด ให้มีพื้นที่ให้ผู้โดยสารเดินได้สะดวก หรืออย่างช่วงกลางคืน รถวิ่งเร็ว กระเป๋าอาจจะล้ม มามุก็จะเอาเชือกมามัดให้อยู่ “มามุทำแบบนี้ทุกวัน เป็นหน้าที่ที่เรารู้สึกว่าต้องดูแลเขา”

.

 “ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” คือ เป้าหมายในการทำงาน

มามุตั้งใจทำงานตรงนี้มาโดยตลอด คิดเสมอว่า จะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องที่จะบรรจุหรือไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำไม่ได้คาดหวัง เพียงแค่ทุกวันนี้รู้สึกว่าทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด และมีความสุข ก็พอแล้ว หรือแม้ต่อไป อีก 5 ปี 10 ปี หรือถ้ามีโอกาสได้สอบเข้าไปบรรจุ ก็จะทำให้ดีที่สุดเช่นกัน คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามเวลาและโอกาสของเรา... 

.

คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “คนดีมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม”

เป็นเรื่องที่ดีนะ สมมุติมีคนที่กำลังตกงาน หรือกำลังทำงานหนักมากๆ แล้วรู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ ถ้าเขาเห็นคนดีมีพื้นที่ยืน จากทางโซเชียล หรือในชีวิตประจำวัน เขาอาจจะมีกำลังใจมากขึ้น หรือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับชีวิตของใครอีกหลายคน การทำดี เป็นคนดี แล้วเผื่อแผ่ให้คนอื่นรับรู้ด้วย หรือช่วยกันบอกต่อ แชร์สิ่งดีๆ จะทำให้คนที่เห็นมีกำลังใจ หรือในทางกลับกัน คนที่ทำดีอยู่แล้วก็ยิ่งมีกำลังใจ

9 กุมภาพันธ์ 2565

 


เขียน/เรียบเรียงโดย : นางสาวเนตรชนก ยุบลมูล กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม

ขอบคุณภาพ/เนื้อหาข่าวจาก :

ไม่ใช่แค่หน้าที่! เปิดใจพนักงานรถไฟ "อุ้มคุณยาย" ส่งถึงชานชาลา

https://news.thaipbs.or.th/content/288040

มีความสุขที่ได้ทำ! เปิดใจพนักงานรถไฟ อุ้มคุณยายส่งชานชาลา ยายเผยประทับใจ

https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3401585

จ้างร้อยบริการล้าน! ภาพประทับใจ หนุ่มรถไฟ ช่วยอุ้มคุณยายลงสถานี

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_3391053

เปิดใจ! พนักงานรถไฟอุ้มคุณยาย "สุขใจที่ได้ทำ"

https://today.line.me/th/v2/article/0gPJ9G

 

 

ค้นหาหนังสือ