สังคมไทยกำลังได้รับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน สถานประกอบการหลายแห่งจำเป็นต้องปลดพนักงาน และบางส่วนปิดกิจการไป ส่งผลให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น
จากการแถลงข่าวรายงานภาวะสังคมไตรมาส 3/2564 เมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25 และประเด็นสำคัญ คือคดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ซึ่งพบว่าเป็นการกระทำผิดคดีลักทรัพย์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.4 ของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ทั้งหมด
ปัจจุบัน หากติดตามข่าวสารจะพบข่าวการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปล้น จี้ ชิงทรัพย์ หรือมุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากระบบรายงานสถานการณ์คุณธรรมของศูนย์คุณธรรม (E-monitoring) เดือนพฤศจิกายน 2564 สะท้อนถึงความถี่ของเหตุการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นแทบทุกวันในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ยกตัวอย่างเช่น
- 9 พฤศจิกายน 2564 หญิงสาวถูกฆ่าและชิงทองที่จังหวัดนครสวรรค์
- 12 พฤศจิกายน 2564 คนร้ายชิงทรัพย์ภายในธนาคารที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
- 13 พฤศจิกายน 2564 คนร้ายบุกเดี่ยวชิงทองคำน้ำหนักกว่า 10 บาท ย่านพัฒนาการ กรุงเทพฯ
- 19 พฤศจิกายน 2564 โจรบุกเดี่ยวชิงทองที่ตลาดบางแค กรุงเทพฯ
- 20 พฤศจิกายน 2564 เยาวชน อายุ 17 ปี ชิงทองในห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดขอนแก่น
- 23 พฤศจิกายน 2564 โจรบุกเดี่ยวชิงทองกลางห้างสรรพสินค้ากว่า 1 ล้านบาท ที่จังหวัดชัยภูมิ
- 27 พฤศจิกายน 2564 วัยรุ่น 9 คน ดักปล้นและทำร้ายร่างกาย ที่จังหวัดปทุมธานี
การสอบสวนผู้ต้องหาจากคดีต่างๆ เบื้องต้นพบว่ามีเหตุผลมาจากการว่างงาน ขาดรายได้ มีหนี้สิน และรวมไปถึงการติดหนี้พนันออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น และเผยแพร่ในสื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีผู้กระทำผิดส่วนหนึ่งเป็นเยาวชน ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง
แม้ว่าผู้กระทำความผิดคดีอาชญากรรมส่วนใหญ่ถูกจับกุม ดำเนินคดี และถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แต่คดีอาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ข้อเสนอไว้ว่าจากคดีอาญาที่เพิ่มมากขึ้น ต้องมีมาตรการป้องกันเหตุที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่อาจเพิ่มความถี่ในการออกตรวจจุดเสี่ยง ตั้งจุดตรวจสกัด
อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าคิดต่อจากข้อเสนอข้างต้น คือนอกจากภาครัฐหรือองค์กรที่มีหน้าที่จะดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว จะมีวิธีการลดภัยรายวันเหล่านี้ด้วยการวิเคราะห์ปัญหาที่ต้นเหตุและเปิดให้ภาคส่วนต่างๆมีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการแก้ปัญหาด้วยกันหรือไม่ เพื่อจะนำไปสู่การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
เรียบเรียงโดย: ภูริชยา ภูวญาณ กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย
ที่มา : ระบบรายงานสถานการณ์คุณธรรม (E-monitoring) ศูนย์คุณธรรม
- https://mgronline.com/tags/ชิงทอง
- https://workpointtoday.com/jobs-4/
- https://mgronline.com/crime/detail/9640000112755
- https://ch3com/news/program/267010?fbclid=IwAR0KabDxLfgWD_i2AGg-glNPte5RMDqteYl3r4EBJ_lXf3JTF21Oe0LlpX>0
- https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=socialoutlook_report
- https://www.pptvhdcom/news/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1/161516/amp
- https://www.thairath.co.th/news/crime/2249041
- https://www.thairath.co.th/news/crime/2247806